WWF องค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ได้มีการทำการสำรวจและทำรายงานเกี่ยวกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมของโลก ที่ชื่อว่า WWF Living Planet Report ซึ่งจะจัดทำในทุกๆ 2 ปี ซึ่งในปี 2018 นี้ก็มีการจัดทำทำด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากรายงานออกมาน่าใจหายไม่น้อย เพราะ WWF ระบุว่า ความหลากหลายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกเรากำลังลดลงต่อเนื่อง มีสัตว์ป่าล้มตายและสูญพันธุ์เป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
ในรายงานเผยว่า ช่วงปี 1970-2014 โลกของเราได้สูญเสียสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังไปมากกว่า 60% ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือแม้แต่สัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งสาเหตุสำคัญก็ไม่ใช่ใคร นอกเสียจาก “มนุษย์” อย่างเราๆนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ ความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ได้เข้ามาบั่นทอนความหลากหลายของชีวิตบนโลก มนุษย์บริโภคสิ่งต่างๆแบบไม่หยุดยั้งชั่งใจ ทั้งๆที่วิวัฒนาการของมนุษย์ล้ำหน้ามากขึ้น ผลิตได้มากขึ้น แต่ก็กลับทำลายโลกมากขึ้นด้วย จากการสำรวจพบว่าภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังล้มตายและสูญพันธุ์ไปมากที่สุดถึง 89% เมื่อเทียบกับช่วงยุคทศวรรษ 1970
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก WWF ก็คือ ปัจจุบันทั่วทั้งโลกมีพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของโลกเท่านั้นที่ปลอดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ แต่ทาง WWF คาดการณ์ว่าอีกไม่ช้าไม่นาน พื้นที่ดังกล่าวจะมีอัตราส่วนลดลง เพราะมนุษย์จะเริ่มรุกคืบเข้าไป นำทรัพยากรต่างๆออกมาใช้และบริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร เรื่องของพลังงานและเรื่องของที่อยู่อาศัย นั่นจะทำให้ภายในปี 2050 ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าจะลดลงน้อยลงไปกว่าเดิมอีกมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่ WWF พยายามกระตุ้นให้ทั่วโลกให้ความสนใจก็คือ ผลกระทบจากขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วทั้งทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง ซึ่งทาง WWF ยังคงพยายามยืนหยัดต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป พยายามกระตุ้นและสร้างจุดยืนร่วมกันของนานาประเทศในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าพวกเขาเป็นห่วงโลก แต่ก็ไม่อาจทำอะไรไปได้มากกว่านี้ เพราะอำนาจและเงินตราดูเหมือนจะมีค่ามากพอที่จะซื้อทรัพยากรและชีวิตของสัตว์ป่าได้เท่าที่คนที่ถือครองทั้งสองสิ่งนี้ไว้ต้องการ