แม้ว่าสมัยนี้ความก้าวหน้าทางการแพทย์จะไปไกลก็จริง แต่มีอีกหลายโรคภัยที่อันตรายอย่างไร้ทางแก้ไขอยู่ “โรคพิษสุนัขบ้า” เป็นอีกโรคหนึ่งที่คนไทยเรายังเข้าใจผิดกันอยู่มาก หลายคนคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้นเลย หากติดเชื้อและชะล่าใจไม่ทำการรักษาโรคนี้อันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว

โรคพิษสุนัขบ้ายังคงอันตราย

     กรมปศุสัตว์รายงานว่าปี 2560 สุนัข แมวทั่วประเทศป่วยเป็นโรคดังกล่าวกว่า 800 ตัว และเริ่มปี 2561 เดือนเดียวพบสุนัขบ้าแล้วกว่า 135 ตัว และที่สำคัญกว่านั้นจากการสำรวจพบว่าคนไทยที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากบริเวณชุมชนที่มีสุนัขและแมวติดเชื้อยังคงมีเพิ่มขึ้นอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะในบ้านของพวกเราส่วนใหญ่ก็จะเลี้ยงสุนัขและแมวไว้ ที่สำคัญคนไทยเรามักจะชะล่าใจกับเรื่องโรคพิษสุนัขบ้ากันมากเสียด้วย บางคนเอาสุนัขหรือแมวจรจัดมาเลี้ยงด้วยความรัก ความเมตตาสงสาร จริงอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องอย่าลืมควักกระเป๋าพาสุนัขและแมวที่เอามาเลี้ยงนั้นไปตรวจร่างกายและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย หากไม่อยากเสียเงินเอง หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ อย่างกรมควบคุมโรคก็มีบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ฟรี ตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เลี้ยงทุกคน เพราะนี่คือความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

     โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย พบมากในสุนัขและแมว แม้ชื่อโรคจะบอกว่าเป็นพิษสุนัขบ้า แต่เชื้อตัวนี้สามารถมีอยู่ในแมวได้เหมือนกัน ซึ่งเราอาจได้รับเชื้อนี้ได้จากหลายทางทั้ง ติดเชื้อจากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น ถูกกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสำรวจความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าของคนไทยพบว่า ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่คลาดเคลื่อน โดยร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้ารักษาหาย ร้อยละ 59 คิดว่าไม่เป็นไรเมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย จึงไม่ทำความสะอาดแผลเบื้องต้น หรือไม่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ ซึ่งเมื่อได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าไป  ระยะการแสดงอาการของโรคนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจนานเป็นปี เมื่อผู้ป่วยมีอาการแล้วจะรักษาไม่หายและเสียชีวิตทุกราย ฉะนั้น โรคนี้ไม่ได้มียารักษาให้หาย มีแต่เพียงวัคซีนยับยั้งและป้องกันเท่านั้น

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

สำนักโรคติดต่อให้คำแนะนำไว้ดังนี้

1.หลัก 5 ย. คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่งกับสุนัขและแมวคนอื่น หรือสุนัขและแมวที่มีการผิดปกติ

2.เมื่อถูกสุนัข หรือแมว ข่วน หรือกัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง และใส่ยาเบตาดีนหลังล้างแผลเพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

3.รีบพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และไปตามนัดทุกครั้ง เพื่อการป้องกันสูงสุด

4.กักสุนัข/แมวตัวที่กัดข่วน ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ที่กักตายลงให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อการส่งตรวจหาโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

5.เจ้าของสุนัข เเละเเมวควรนำเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1422 หรือ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 02-590-3177-8