คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ในเรื่องของมาตรการภาษีเพื่อจูงใจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยให้มีการควบรวมกิจการ โดยมีมาตรการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ทั้งนี้การจูงใจให้มีการควบรวมกิจการธนาคารก็เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีขนาดใหญ่มากขึ้นสามารถต่อสู้กับต่างประเทศได้ นั่นจึงสัญญาณที่ชี้ว่าธนาคารที่รัฐเข้าไปมีหุ้นอยู่ด้วยอย่าง ธนาคารกรุงไทยและธนาคารทหารไทยมีแนวโน้มที่จะควบรวมกิจการธนาคารทั้งสองรวมเข้ากัน

     ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ธุรกิจการเงินในปัจจุบันนั้นแข่งขันกันแบบหมัดต่อหมัด กระสุนยิงใส่กันแบบนัดต่อนัด ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังสั่นคลอนไม่ต้องรวมธนาคารรายย่อยต่างๆที่พากันอ่วมไปหมด จึงไม่ต้องกล่าวเลยว่าธุรกิจการเงินในบ้านเราจะสามารถสู้กับธุรกิจการเงินในภูมิภาคอาเซียนได้บ้างหรือไม่ หากเทียบธนาคารพาณิชย์ไทยกับประเทศในอาเซียนแล้วพบว่าส่วนของไทยยังต้องพัฒนาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ด้านของขนาดเองพบว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของไทยมีสินทรัพย์ขนาดประมาณ 3 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับมาเลเซียมีขนาด 4 ล้านล้านบาท จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์มีการควบรวมเพื่อให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น

     ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ทางกระทรวงการคลัง ชงเรื่องเสนอเข้า ครม. และเมื่อ ครม. รับเรื่องพิจารณาก็จึงมีมติเห็นชอบออกมาในวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สามารถควบรวมกิจการธนาคารกันได้ ซึ่งสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐยินยอมพร้อมใจในการควบรวมกิจการธนาคารครั้งนี้ก็คือ การลดหย่อนมาตรการเกี่ยวกับภาษี ซึ่งการที่ธนาคารพาณิชย์จะควบรวมกิจการกันนั้น ตามขั้นตอนแล้วจะต้องมีการเสียภาษีมากมายในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน ซึ่งตรงนี้รัฐจะลดหย่อนให้และบางอย่างอาจจะไม่เก็บเลยเพื่อช่วยให้การควบรวมกิจการธนาคารครั้งนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่น

     ในวงการธุรกิจการเงินชี้กันว่า การที่คลังส่งสัญญาณแบบนี้น่าจะบ่งบอกถึงควบรวมกิจการธนาคารของ 2 ธนาคารที่รัฐมีหุ้นอยู่นั่นคือ  ธนาคารกรุงไทยและธนาคารทหารไทย

      หากพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นแล้วฝั่งธนาคารกรุงไทย ไปควบรวมกับใครก้คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะเป็นของรัฐเกินครึ่ง แต่ทางฝั่งของธนาคารทหารไทยนั้นก็คงต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไรกับแนวทางนี้ หากมีการควบรวมกิจการกันจริง สถานะของธนาคารกรุงไทยจะเปลี่ยนแปลงไปทันที นั่นคือกรุงไทยจะเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์เป็นอันดับ 1 ของประเทศทันที

     อย่างไรก็ดีจะมีการควบรวมกิจการธนาคารของ 2 ธนาคารนี้จริงหรือไม่ ยังคงต้องตามดูเพราะมีประเด็นที่ต้องพิจารณากันอีกมากมาย คำถามที่น่าสนใจในประเด็นนี้ก็คือ การควบรวมกิจการธนาคาร มีความจำเป็นหรือไม่ ? และ การควบรวมกิจการธนาคารจะกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชนหรือเปล่า ? ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ภาครัฐคงต้องหาคำตอบที่ดีให้กับประชาชน มิใช่จะเอาแต่อุ้มธนาคารจนลืมประชาชน อย่างน้อยควรมีคำอธิบายที่ดีเพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ แต่หากมองกันลึกๆแล้ว การควบรวมกิจการธนาคารน่าจะส่งผลบวกต่อประชาชน เพราะกิจการธนาคารที่โตขึ้นแข็งแกร่งขึ้นย่อมทำให้ระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินในภาพรวมของประเทศดีขึ้น สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อคนไทย