HIGHLIGHTS:
|
คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่รู้สึกว่า งานที่ทำอย่างคร่ำเคร่งในทุกวัน ธุรกิจที่ตรากตรำลำบากสร้างมา “มันช่างไม่มีค่า” อะไรเลย ทำมาเจ้านายก็ไม่ดู ทำมาขายลูกค้าก็ไม่ซื้อ เขียนมาคนก็ไม่อ่าน ทำคลิปมาคนก็ไม่ดู ปัญหาเหล่านี้สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จก็คงมองเป็นเรื่องขี้ผง แต่สำหรับเราบางทีมันก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ท้อแท้ไม่น้อย แต่คุณรู้ไหมว่าคนที่ประสบความสำเร็จนั้นทำไมเขาถึงมองว่าเรื่องนี้มันเล็กน้อยจัง ไม่ใช่พวกเขาไม่ได้เจอกับตัวเองจึงคิดแบบนั้นนะ ตรงกันข้ามคนที่ประสบความสำเร็จแล้วทุกคนผ่านจุดที่คุณยืนอยู่นั้นมาแล้วทั้งสิ้น และเคล็ดลับที่ทำให้เขาผ่านจุดที่ยากเหล่านั้นมาได้ก็เพราะพวกเขามี Passion ในสิ่งที่ทำเสมอว่าจะมีประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น แล้วคุณล่ะทำทุกอย่างแบบมี Passion บ้างหรือไม่
ใส่ความหมายไปกับทุกสิ่งที่คุณคิด
หากเรามองในภาพรวมภาพยนตร์ที่มีผู้ชมมากที่สุดตลอดกาลคือการลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งบันทึกโดยอับราฮัม ซาพรูเดอร์ (Abraham Zapruder)เป็นภาพยนต์ที่มีความยาวเพียงแค่นาทีเศษ(ช่วงลอบสังหารก็แค่ยี่สิบวินาที) และหากจะให้วิจารณ์กันตามตรงภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นภาพยนตร์ได้เลย น่าจะเรียกว่าคลิปเหตุการณ์เสียมากกว่า เพราะการบันทึกภาพเต็มไปด้วยความผิดพลาดทางเทคนิคก็ว่าได้ กล้องจะสั่นอยู่ตลอด วางมุมถ่ายภาพไม่ได้ความ และในนาทีระทึกขวัญที่กระสุนพุ่งเข้าใส่ประธานาธิบดี ภาพก็เกือบจะหายไปจากด้านล่างจอ อีกทั้งยังหลุดโฟกัสเป็นระยะอีกด้วย
แม้ว่าความไร้ประสิทธิภาพทางเทคนิคจะยาวเป็นหางว่าว แต่ผู้คนก็ยังดู เพียงเพราะว่าเนื้อหาในภาพนั้นมีพลังอย่างรุนแรง น่าจับตา และกระตุ้นความสนใจอย่างยิ่ง การบันทึกความค่อนข้างหยาบและไร้ความประณีต แต่ความผิดพลาดทั้งปวงกลับยิ่งเพิ่มบรรยากาศให้แก่ตัวภาพยนตร์ มันกลายเป็นภาพที่ดูไร้การปรุงแต่งและดำเนินอย่างฉับไว ถ้าจะพูดเชิงเหน็บแนม คงต้องบอกว่าความด้อยคุณภาพด้านเทคนิคที่ว่านี้แผ่อิทธิพลสู่ผู้กำกับเช่นโอลิเวอร์ สโตน ในการทำภาพยนตร์แนวสารคดีที่ดูหยาบแต่ได้อรรถรสแบบ Reality
โอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน
จากต้นแบบที่ไม่ได้ตั้งใจนำไปสู่แนวคิดการมองอย่างลึกซึ้งไปถึงคุณค่าภายใน จนก่อเกิดผลงานสร้างสรรค์ที่ทั่วโลกได้ประจักษ์แก่สายตามาแล้วว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าแค่ไหนหลายต่อหลายชิ้น ทำให้ได้แง่คิดว่ามีหลายครั้งที่เรามัวแต่ใส่ใจกับรูปลักษณ์ เทคนิคที่ซับซ้อน ฟังก์ชั่นที่มากเกินความจำ ของสิ่งที่เราสร้างสรรค์และผลิตมันขึ้นมา จนลืมไปว่าคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่เราทำนั้นมันอยู่ตรงไหน เราสร้างสรรค์และทำมันขึ้นมาเพื่ออะไร ทำให้ใครใช้ ทำให้ใครดู ทำให้ใครฟังดังนั้น ทุกครั้งที่สร้างสรรค์ผลงานของคุณควรบอกตัวเองให้ว่า “จงคำนึงถึงเนื้อหาของงาน ไม่ใช่แค่กลวิธีด้านเทคนิค” ถ้าคุณต้องการให้สิ่งที่คุณสร้างสรรค์ขึ้นมาโดนใจผู้คน ขายได้ และมีคุณค่าจริงๆต่อผู้คน
ใช้ผลงานสร้างตัวตน และใช้ตัวตนสร้างผลงาน
คุณอาจจะเคยใดยิ่งประโยคที่ว่า “ชีวิตออกแบบได้” การออกแบบชีวิตของตนเองก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คนประสบความสำเร็จทั้งหลายในโลกล้วนทำกัน และสิ่งหนึ่งที่เราพบเห็นได้เสมอก็คือคนที่เป็นนักสร้างสรรค์และประสบความสำเร็จในชีวิตมักจะสร้างตัวตนของตัวเองให้มีความเด่นชัดอยู่เสมอ นักปรัชญาอย่าง มิเชล ฟูโกต์ วิเคราะห์ว่าการสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่กับตัวของเราเองนั้น คือการทำให้ตัวเราเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ภารกิจของคนยุคใหม่จึงมิใช่การหาตัวตนที่อยู่ข้างใน แต่เป็นการประดิษฐ์ตัวตนขึ้นมาใหม่
ศิลปินชาวเยอรมัน โจเซฟ บอยส์ มองชีวิตของตนเองว่าเป็นงานศิลปะ เฉกเช่นภาพเขียนหรือประติมากรรมที่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการเขาถามตัวเองว่าอยากจะเป็นใคร จากนั้นก็ตั้งมั่นที่จะทำให้ตัวเองเป็นคนๆนั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บอยส์เป็นพลปืนหลังบนเครื่องบินที่บินไปเพื่อทิ้งระเบิดสตูก้า แต่เครื่องถูกยิงตกที่พรมแดนไครเมีย เท่าที่บอยส์จำได้ กลุ่มชนเผ่าทาทาร์(ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในแถบไครเมีย)ได้ช่วยชีวิตของเขาไว้โดยการห่อหุ้มร่างกายที่เต็มไปด้วยบาดแผลด้วยไขมันสัตว์ น้ำผึ้ง และผ้าขนสัตว์ ซึ่งช่วยทั้งด้านการเยียวยาบาดแผลและให้ความอบอุ่น ชนกลุ่มนี้ใช้เวลารักษาเขาอยู่หลายสัปดาห์จนกระทั่งหายดี บอยส์จึงใช้เหตุการณ์นี้ในการสร้างตัวตนให้เป็นศิลปะ โดยนำไขมันสัตว์ น้ำผึ้ง และผ้าขนสัตว์ มาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อให้ดูผิดแผกแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม
โจเซฟ บอยส์ ศิลปินชาวเยอรมัน
ชนเผ่าทาทาร์ ที่บอยส์คิดว่าได้ช่วยชีวิตเขาไว้
ในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มชนเผ่าทาทาร์ไม่ได้ช่วยชีวิตของบอยส์ไว้ หน่วยสืบค้นหาของทหารเยอรมันต่างหากที่รีบรุดหาเขาจนพบและนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลทหาร บอยส์แต่งเรื่องราวชีวิตของเขาขึ้นมาเอง เขาสร้างตำนานชีวิตขึ้นมาราวกับตัวเองเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งเพราะเขาไม่เคยมีความสุขกับตัวตนที่แท้จริง เขาจึงมุ่งมั่นอย่างหนักที่จะสร้างตัวตนแบบใหม่ขึ้นมา สำหรับบอยส์แล้วกระบวนการสร้างสรรค์คือสภาวะจิตใจ จะเรียกว่าเขา “มโน” ไปเองก็ได้ แต่สิ่งที่เขามโนไปเองนั้นกลับเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่มีประโยชน์ต่อชีวิตเขา บอยส์นำความสามารถนี้ไปใช้กับทุกด้านของชีวิต ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดูธรรมดาสามัญตามประสาโลกเพียงใดก็ตาม เราสามารถสร้างสรรค์สร้างการตัดสินใจ การกระทำและความคิดเองได้ ชีวิตของเราคืองานสร้างสรรค์ของเราเอง
ความสัมพันธ์ที่คนเรามีให้แก่ตัวเราเองควรเป็นแบบสร้างสรรค์ เราควรคิดว่าทุกสิ่งที่เรากระทำคือการสรรค์สร้าง ทำให้ตัวเราเองเป็นงานศิลปะ “จงอย่าค้นหาตัวตน แต่จงสร้างตัวตนขึ้นมา” หากวันนี้คุณคิดว่าคุณไม่มีคุณค่าต่อครอบครัว ไม่มีคุณค่าต่อสังคม คุณก็จะไม่มีคุณค่าต่อสิ่งใดๆเลยจริงๆ แต่ถ้าคุณคิดใหม่ว่าคุณคือคนหนึ่งที่มีคุณค่าพร้อมในฐานะพลเมืองของโลก มีศักยภาพพอที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนจากความคิดสร้างสรรค์และการลงมือทำของคุณ คุณก็อาจเป็นอีกคนหนึ่งที่พลิกโลกได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก: freedomsphoenix.com, gencbaris.com, travelprothai.com