เขย่าทุกวงการกันตั้งแต่เริ่มต้นปี 2562 ด้วยกฎหมายภาษีฉบับใหม่ที่พากันเข้าคิวรอบังคับใช้หลายฉบับ เพื่อบีบธุรกิจทั้งใหญ่และเล็ก ให้ต้องเร่งทำตนเองให้โปร่งใสสามารถเข้าระบบได้อย่างถูกต้อง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปี 2562 กรมสรรพากรมีกฎหมายใหม่ที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมการบังคับใช้ หลักๆ 2 ฉบับ คือ
1) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ภาษีอีเพย์เมนต์) ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561 หรือมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน พ.ศ. 2561 (Transfer Pricing) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบบัญชีปี 2562 เป็นต้นไป โดยจะมีผลต่อกลุ่มบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาทขึ้นไป ต้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทในเครือให้กรมสรรพากร พร้อมแบบแสดงรายการชำระภาษีในเดือน พ.ค. 2563
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก็คือ ในส่วนภาษี Transfer Pricing ถ้าหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันและมีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาท จะต้องจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “Disclosure Form” แล้วยื่นต่อกรมสรรพากร พร้อมกับแบบแสดงรายการภาษี รวมทั้งเอกสารข้อมูลการทำธุรกรรมกับบริษัทในเครือทั้งที่อยู่ในและต่างประเทศ ซึ่งทางกรมสรรพากรสามารถเรียกขอย้อนหลังได้ 5 ปี และต้องนำส่งภายใน 60 วัน สำหรับปีแรกให้รายงานภายใน 180 วัน หากบริษัทที่เข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ จะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
ภาษีอีเพย์เมนต์ส่งผลสะเทือนไปทั่ว
ภาษีอีเพย์เมนต์ขอสรุปให้เข้าใจกันง่ายๆการเก็บภาษีค้าขายออนไลน์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงหันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กฎหมายฉบับใหม่ที่มีการปรับปรุงนี้กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ นำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรม
1) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง
2) ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
โดยจะเป็นการเก็บข้อมูลธุรกรรมปี 2562 และนำส่งให้กรมสรรพากรต้นปี 2563 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า เป้าหมายของกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ คือ ต้องการทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายอยู่บนฐานภาษีเดียวกัน เพราะประเทศไทยมีคนเลี่ยงภาษีจำนวนมาก โดยเฉพาะการค้าขายที่อยู่บนออนไลน์ หากไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับร้านค้าทั่วไป ประเทศก็จะเดินไปข้างหน้าได้ลำบาก ไม่ได้มีกฎหมายไว้เพื่อดักอีคอมเมิร์ซ แต่ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันคนที่ทำอะไรผิดกฎหมาย
ส่วนร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ข้ามชาตินั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างไรก็ดี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีนโยบายให้ผลักดันต่อไป แต่จะทันเข้า สนช.หรือไม่นั้น ก็ขึ้นกับสถานการณ์
กฎหมายภาษีที่ดินมีการปรับปรุงใหม่
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่าน สนช.ไปแล้ว โดยจะมีผลกับการจัดเก็บภาษีจริง วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคธุรกิจคงต้องสำรวจทรัพย์สินที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของตัวเองไว้ เพื่อเตรียมรับการประเมินภาษีที่ดินใหม่ เพราะเมื่อกฎหมายบังคับใช้ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็จะเริ่มเข้าไปสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกแปลง ซึ่งโดยปกติแล้วกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ศูนย์การค้า หรือคอมมิวนิวตี้ มอลล์ ส่วนใหญ่จะมีการซื้อที่ดินเก็บตุนไว้ล่วงหน้าสำหรับการลงทุนในอนาคตอยู่แล้ว แปลงไหนที่ลงทุนไปแล้วและเปิดให้บริการแล้วจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของภาระต้นทุนมากนัก แต่ที่เป็นความท้าทายและกระทบคือ ที่ดินว่างเปล่าที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ ตอนนี้ถ้าสังเกตจะเห็นภาพการลงทุนในที่ดินของแลนด์แบงก์รายใหญ่ๆ ที่เอาที่ดินออกมาให้เช่าหรือทำอะไรเล็กๆน้อยๆ เพื่อไม่ต้องเจอมาตรการภาษี และรอเวลาการลงทุนในอนาคต
กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคคล เขย่าความสนใจทุกวงการ
สิ่งที่น่าจับตาก็มีอยู่ด้วยกัน 5 ฉบับก็คือ
- ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้เพิ่มหมวดการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
- ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
- ร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย
- ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ที่จะเป็นที่พูดถึงมากที่สุดก็คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหลักการคือ กำหนดวิธีการเก็บ-ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อน เพื่อคุ้มครองข้อมูลของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด โดยจะแยกกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องออกเป็น เจ้าของข้อมูล ผู้จัดเก็บข้อมูล และผู้นำข้อมูลไปประมวลผล ซึ่งตามกฎหมายจะมีการกำหนดวิธีปฏิบัติ แนวทางการกำกับดูแลที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม ที่ประชาชนทั่วไปสนใจก็คือ กฎหมายนี้ดูเหมือนจะมาบังคับใช้กับประชาชนและองค์กรธุรกิจทั่วไป แต่สำหรับภาคราชการนั้นจะมีความโปร่งใสหรือไม่ในกระบวนการขั้นตอนขอดูข้อมูลของประชาชน เรื่องนี้จึงต้องจับตาดูกันต่อไป