จีนพยายามกระตุ้นประชากรในประเทศให้มีลูกมากขึ้นเป็นนโยบายที่มีมาประมาณ 3 ปีได้แล้ว แต่ในที่สุดก็ดูเหมือนว่านโยบายนี้จะไม่ได้ผลดีนัก เพราะคนชนชั้นกลางในประเทศจีนไม่พร้อมที่จะมีลูกคนที่สอง เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมานั้นมีสูงมากขึ้น

news_SAkirGQxPO182231_533อย่างที่หลายคนทราบกันแล้วว่ารัฐบาลจีนเคยมีนโยบายลูกคนเดียวมากว่า 4 ทศวรรษ แต่แล้วเมื่อจีนต้องการที่จะขยายประเทศให้เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยประชากรคนรุ่นใหม่ขึ้นมาพัฒนาประเทศ จึงได้มีการผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวมา 3 ปีแล้วและหันมาใช้ “นโยบายลูกคนที่สอง” เพื่อหวังกระตุ้นให้มีเด็กเกิดใหม่มากขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องผิดหวังกับความเป็นจริง เนื่องจากตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยให้เห็นว่า ในปี 2018 มีตัวเลขเด็กเกิดใหม่เพียง 15.32 ล้านคน ลดลงจากเดิมในปี 2017 ประมาณ 2 ล้านคน

จากการสำรวจในปี 2017 มากกว่า 50 % ของครอบครัวจีน ไม่อยากมีลูกคนที่สอง และหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมาเป็นเงาตามตัว หนึ่งในคนกลุ่มนั้นคือ เฉินฮุ่ยหยวน ครูระดับมัธยมศึกษา เธอมีรายได้เพียง 5,000 หยวน หรือประมาณ 23,000 บาท ต่อเดือน ในขณะที่สามีเธอมีรายได้ 16,000 หยวน หรือประมาณ 74,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งการเลี้ยงลูกวัย 2 ขวบ ของเธอ ใช้เงินประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของครอบครัว เมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวที่มีรายได้ใกล้เคียงกันในประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ จะพบว่าที่นั่นใช้เงินเลี้ยงลูก คิดเป็น 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น

การไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรเกิดใหม่สร้างความปวดหัวและกังวลใจให้กับรัฐบาลจีนอย่างมาก เนื่องจากประเทศกำลังขาดทรัพยากรมนุษย์ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยในปัจจุบันประชาชนจีนกว่า 240 ล้านคน เป็นคนที่มีอายุเกิน 60 ปี นับเป็น 17 %ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้ด้วยว่า ตัวเลขผู้สูงอายุในจีนจะขึ้นไปอยู่ที่ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2050 หรือประมาณ 480 ล้านคน และภายในปี 2030 ตัวเลขของประชากรจีนจะลดลงซึ่งไป เติมเชื้อของความกลัวที่ว่า ‘ชาวจีนจะแก่ก่อนจะรวย’

ผู้ปกครองและผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกในประเทศจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับค่าครองชีพที่กำลังสูงขึ้นไม่แพ้กัน แต่ความเชื่อมั่นในสินค้าท้องถิ่นกลับลดลง โดยในกรณีนี้ เฉินฮุ่ยหยวน กล่าวว่า เธอไม่เคยซื้อสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นให้ลูกเธอใช้เลย เธอเลือกที่จะซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อความมั่นใจมากกว่า แม้กระทั่งเนื้อสัตว์ เธอก็ยังซื้อเนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะหากจำกันได้ในปี 2008 การปนเปื้อนสารเมลามีนในนมผงคร่าชีวิตทารกในจีนไปอย่างน้อย 6 คน และยังทิ้งปัญหาสุขภาพอย่างนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะอักเสบกับเด็กหลายแสนคน ซึ่งข่าวฉาวในครั้งนั้นยังคงตามหลอกหลอนพ่อแม่เด็กมากมายในจีนมาจนปัจจุบัน

ปัจจุบันมีข่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะปัดมาตรการจำกัดการมีลูกให้ตกไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อเพิ่มความพยายามในการกระตุ้นอัตราการเกิดของประชากร แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลจะยังต้องใช้มาตรการอีกหลายอย่างมาอุดหนุนประชาชนที่กำลังประสบปัญหาการเลี้ยงดูบุตร เนื่องจากปัจจัยทางการเงิน