ชาวยุคมิลเลนเนียล คือ คนหนุ่มสาวในวัยทำงานปัจจุบัน มีอายุอยู่ในช่วง 25-37 ปี คนกลุ่มนี้กำลังเป็นที่สนใจและหมายตาของผู้ประกอบการธุรกิจไม่ว่ารุ่นใหญ่ หรือรุ่นเล็ก เรียกว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อแบรนด์สินค้าต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากจำทำธุรกิจให้ปังในตอนนี้และอยู่ได้ยาวไปถึงอนาคต การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนในกลุ่มมิลเลนเนียลจึงเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มทำทันที
บริษัท เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย จำกัด เอเยนซีด้านประชาสัมพันธ์และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งระดับโลก เลือกที่จะสำรวจข้อมูลด้านความเชื่อ ทัศนคติ และมุมมองต่อสังคม ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการบริโภคของมิลเลนเนียลไทยยุค 4.0 จำนวน 500 คน ภายใต้หัวข้อ “มิลเลนเนียลไทยยุค 4.0 กับอนาคตที่ไปไกลกว่าการยึดติดกับแบรนด์” ผลวิจัยเบื้องต้นพบว่าคนหนุ่มสาวยุคใหม่มีนิยามของความสำเร็จและความสุขที่ต่างออกไป แสวงหาความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และไม่ยึดติดกับแบรนด์ ขณะที่ลักษณะของกลุ่มมิลเลนเนียลทั่วโลกมีความใกล้เคียงกัน เนื่องจากกลุ่มนี้รับสื่อและเติบโตมากับแพลตฟอร์มนับข้อมูลที่เหมือนหรือคล้ายกัน
ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 70% ยอมรับว่าเงินคือตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจนที่สุด และอีกกว่า 87% ยังเผยว่ารู้สึกดีที่ได้ใช้จ่ายเพื่อปรนเปรอตนเอง แต่พวกเขากลับบอกว่าแม้ว่า “เงิน” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ แต่พวกเขาก็มีความชัดเจนกับความต้องการของตัวเองมากพอที่จะไม่มองว่าเงินสำคัญมากไปกว่าความสุขในชีวิต นอกจากนี้ พวกเขายังให้ความเห็นต่อนิยามของความสุขว่าคือการมีสุขภาพที่ดี (67%) และการมีเวลาให้กับตัวเองและความมีอิสระในการใช้ชีวิต (67%) ขณะที่สัดส่วนของมนุษย์มิลเลนเนียลที่ให้ความสำคัญกับการออมเงินมีประมาณ 55%
ขณะเดียวกันหนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับการแสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของตนเอง ชาวมิลเลนเนียล 79% จึงพร้อมที่จะจ่ายมากกว่าให้กับสินค้าและบริการ หากแบรนด์นั้นๆ สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะตัวของพวกเขาได้ โดยบรรดาแบรนด์สินค้า 5 อันดับแรกที่สามารถสร้างโอกาสได้ดีในการสร้าง personalized brand สำหรับชาวมิลเลนเนียล ได้แก่สินค้าในกลุ่ม อาหาร ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ธนาคาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งที่ผ่านมากลุ่มมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตน เนื่องจากมิลเลนเนียลไทยมองว่าไม่มีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งโดยเฉพาะที่จะสามารถตอบสนองความเป็นปัจเจกชนหรือความมีเอกลักาณ์เฉพาะตัวของพวกเขาได้อย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันการที่ 84% ของหนุ่มสาวในยุคนี้ใช้แฟชั่นเป็นเครื่องแสดงตัวตน ทำให้พวกเขามักมองหากิจกรรม ดนตรี และเสื้อผ้า ที่แตกต่างไปจากกระแสนิยม
ทั้งนี้ยังพบว่าแบรนด์ธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของชาวมิลเลนเนียลจากกลุ่มตัวอย่าง 500 คน ให้ความสนใจกับประเภทแบรนด์ธุรกิจดังนี้
1.อาหาร 80%
2.บริการทางอินเตอร์เน็ต 80%
3.เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก 78%
4.สถาบันการเงิน 73%
5.เครื่องใช้ไฟฟ้า 70%
6.เครื่องแต่งกาย/เสื้อผ้า 70%
7.พลังงาน 69%
8.ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม 67%
9.ยา 67% และ
10.ประกันภัย 65%
ขณะเดียวกันธุรกิจที่น่ากังวล ได้แก่ ธุรกิจเครื่องดื่ม ยานยนต์ โรงแรม บริการท่องเที่ยว ฟิตเนส เป็นต้น หากธุรกิจเหล่านี้ไม่ปรับตัว แล้วเข้าใจไลฟ์สไตล์กลุ่มชาวมิลเลนเนียลอาจจะอยู่ได้ยากในอนาคต