ได้มีผลสำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8 – 12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศพบว่า เด็กไทยใช้เวลากับอุปกรณ์หน้าจอท่องอินเตอร์เน็ตต่างๆสูงถึง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง

     นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ได้มีการสำรวจเด็กไทยช่วงอายุ 8 – 12 ปีจำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ DQ Screen Time Test เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ต แล้วพบว่า เด็กไทยติดการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอันดับโลกทีเดียว ซึ่งแบบสำรวจที่ใช้นี้เป็นมาตรฐานชุดเดียวกันกับที่มีการใช้สำรวจเด็กประเทศอื่นๆ รวมกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกทั้งสิ้น 37,967 คน ซึ่งผลการสำรวจนี้จะถูกนำไปใช้ในงานวิจัยของ WEF Global press release ในเรื่องของ พลเมืองดิจิทัลของโลกนี้

     ซึ่งจากการสำรวจเป็นที่น่าตกใจว่า เด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอท่องอินเตอร์เน็ต 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 3 ชั่วโมง โดยเข้าอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด 73% เรียกว่าเป็นสังคมก้มหน้าตั้งแต่เด็ก และ พฤติกรรมเหล่านี้ก็ล้วนเกิดจากพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ที่เป็นผู้ปกครองของเด็กๆ นำมาใช้เด็กๆใช้เองด้วย แม้บางบ้านจะมีการควบคุมดูแลการใช้งาน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีกาารควบคุมดูแล เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาให้ลูกๆ ก็จะตัดรำคาญโดยการให้อุปกรณ์ไอทีเหล่านี้แก่เด็ก เพื่อให้เด็กใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่ต้องมากวนผู้ใหญ่

     จากการเปิดเผยของนายณัฐพล ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า พฤติกรรมของเด็กไทยที่ใช้เวลากับโลกอินเตอร์เน็ตที่สูงมานี้ทำให้เด็กไทยมีโอกาสเสี่ยงภัยจากออนไลน์ถึง 60% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 56% และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านพบว่าฟิลิปปินส์ 73% อินโดนีเซีย 71% เวียดนาม 68% และสิงคโปร์ 54% และภัยออนไลน์ที่เด็กๆจะพบได้จะมีอยู่ 4 ประเภท คือ

1.กลั่นแกล้งทางออนไลน์ ทั้งด่ากันด้วยข้อความหยาบคาย ตัดต่อภาพ 49%

2.เข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ 19%

3.ติดเกม 12%

4.ถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า 7%

สำหรับพฤติกรรมของเด็กไทยในการท่องโลกออนไลน์นั้นจากการสำรวจพบว่า

  • ดูวีดิโอออนไลน์ 73%
  • ค้นหาข้อมูล 58%
  • ฟังเพลง 56%
  • เล่นเกม 52%
  • รับส่งอีเมล์หรือแชตข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ 42%

และที่ดูน่าสนใจอีกประการก็คือ เด็กไทยใช้โซเชียลมีเดียสูงถึง 98% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 12% และในจำนวนนี้ใช้งานสม่ำเสมอมากถึง 50% เช่น โพสต์รูป โพสต์คอมเมนต์ ซื้อหรือขายของออนไลน์ สำหรับโซเชียลมีเดียที่เด็กไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทูบ 77%, เฟซบุ๊ก 76%, ไลน์ 61%, อินสตาแกรม 24%, ทวิตเตอร์ 12% และสแนปแซต 4% แม้ดูข้อมูลต่างๆแล้ว บางส่วนดูจะมีความขัดแย้งกับโลกความเป็นจริงอยู่บ้าง(เพราะผู้ให้ข้อมูลอาจไม่ตอบตามจริง) แต่โดยภาพรวมแล้วก็นับว่าเป็นเทรนด์ปัญหาใหม่ที่ผู้ใหญ่คงต้องหันมาใส่ใจเรื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว ก่อนที่เด็กไทยจะสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมก้มหน้าอย่างเต็มตัว