คนเราแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อาหารอย่างเดียวกันคนหนึ่งอาจจะรับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อยไร้ปัญหาใดๆแต่อีกคนหนึ่งหนึ่งกลับรับประทานไม่ได้ เพียงแค่ทานไปนิดเดียวก็แพ้อย่างรุนแรง ยิ่งโดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีผลิตภัณฑ์สกัดจากนม แต่ต่อไปกลุ่มคนที่มีอาการแพ้อาหารที่มีส่วนผสมของนมหรือที่มีอาการที่เรียกว่าfood intolerance คงจะเบาใจกันได้มากขึ้น เพราะมีนักออกแบบสาวจากมหาวิทยาลัย Brunel ประเทศอังกฤษ ที่ชื่อว่าImogen Adams ได้ทำการสร้างสรรค์อุปกรณ์สำหรับตรวจสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในอาหารขึ้นมา คุณอาจจะเห็นว่ามันไม่น่าแปลกอะไรนี่นา แต่เดี๋ยวก่อนเจ้าอุปกรณ์ตรวจสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในอาหารชิ้นนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่มันเล็กนิดเดียวขนาดที่เรียกกันว่าpocket size คือสามารถพกพาใส่กระเป๋าออกไปใช้นอกบ้านได้อย่างง่ายดายมากๆแบบนี้ไปรับประทานอาหารนอกบ้านก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปแล้ว
อุปกรณ์ตรวจสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในอาหารชิ้นจิ๋วแต่แจ๋วนี้ มีนามกรว่า Ally แหม่ ชื่อช่างดูน่ารักน่าชังจริงๆแต่ในเรื่องของความสามารถของเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ธรรมดาเลย เพราะมันสามารถนำไปตรวจหาสารที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้บริโภคในจานอาหารเมนูต่างๆได้อย่างรวดเร็วแบบไม่น่าเชื่อ Imogen Adams ผู้สร้างสรรค์อุปกรณ์อัจฉริยะชิ้นนี้อธิบายว่า Ally ถูกออกแบบมาให้เป็นต้นแบบของอุปกรณ์ตรวจสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในอาหารแบบพกพา ซึ่งในขั้นแรกนี้เน้นคุณสมบัติในการตรวจหา “แล็กโตส” (น้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบได้ในนม)ในอาหารก่อนเป็นเบื้องต้น ซึ่งในต่างประเทศพบผู้ที่แพ้แล็กโตสนี้ไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งในอนาคต Ally จะได้รับการพัฒนาไปสู่การตรวจหาสารก่อให้เกิดอาการแพ้ในอาหารประเภทอื่น ๆ เช่น ถั่ว อาหารทะเล ข้าวสาลี หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์บางประเภทอย่างแน่นอน
Ally นอกจากจะเล็กกระทัดรัดและดูน่ารักสมชื่อแล้ว ยังใช้งานได้ง่ายอีกด้วย ผู้ที่ต้องการใช้งานเพียงนำอาหารที่ต้องการทดสอบจำนวนเล็กน้อยกับน้ำเพียง 2 – 3 หยดใส่ลงไปในอุปกรณ์ชิ้นนี้ จากนั้นก็ทำการเสียบแผ่นทดสอบ(test strip) เข้าไปตรงช่องเสียบแผ่นทดสอบด้านข้าง จากนั้นก็กดปุ่มเพื่อสั่งให้อุปกรณ์ทำการตรวจ เพียงแค่นี้เจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ก็จะเริ่มกระบวนการตรวจหาสารก่ออาการแพ้ในอาหารทันที ซึ่งถ้าอาหารนั้นๆมีส่วนผสมของแล็กโตสอยู่ด้วย แถบตรวจนี้ก็จะเปลี่ยนสีทันที ยิ่งถ้าเปลี่ยนเข้มมากขึ้นนั่นก็เท่ากับว่ามีแล็กโตสผสมอยู่มาก และความก่งกาจของหนูน้อย Ally ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น หนูน้อย Ally ยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อกับApplicationบนสมาร์ทโฟนผ่านทางบลูทูธอีกด้วย ซึ่งเมื่อทำการตรวจพบว่าอาหารนั้นๆมีแล็กโตสก็จะมีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและส่งข้อความไปบอกผู้ใช้งานทันทีว่าอาหารนั้นไม่ปลอดภัย Imogen Adams กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของการออกแบบอุปกรณ์ชิ้นนี้ คือ ความเรียบง่าย ทั้งรูปลักษณ์และวิธีการใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจวิธีการใช้งานได้อย่างรวดเร็วในทันที” สิ่งที่เธอกล่าวมานี้ คือ หัวใจแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดนแท้จริงเลยทีเดียว โดยเธอยังแถมท้ายด้วยว่า “ที่ออกแบบให้เล็กก็เพื่อความสะดวกในการพกพา แต่ถึงอย่างไรก็จะไม่ให้เล็กเกินไปจนผู้ใช้งานทำตกหรือหล่นหายได้ง่ายจนเกินไป”
Ally จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งต้นแบบนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้คน ตอนนี้อุปกรณ์ชิ้นนี้ขายกันในตลาดเล็กๆอยู่ที่ราคาประมาณ 18 ยูโร หรือประมาณ 800 บาท ซึ่งขายแยกกับแผ่นทดสอบซึ่งตกอยู่ที่ชิ้นละ 1 – 2 บาทเท่านั้น วัสดุหลักของอุปกรณ์นี้ก็ทำมาจากพอลิโพรไพลีนซึ่งแข็งแรงทนทานพอสมควร จากความเล็กแต่ไม่ธรรมดาของอุปกรณ์ชิ้นนี้จึงทำให้เข้าตาโครงการ James Dyson Foundation ของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต จึงทำให้Imogen Adams ได้รับทุนต่อยอดในการทำวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้ต่อไป เมื่อเป็นดังนี้ เราจึงเชื่อว่า Ally เวอร์ชั่น 2 และ 3 ก็คงจะออกมาให้เราเห็นในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน
เครดิตข้อมูลและรูปภาพจาก: brunel.ac.uk, dezeen.com