หลังจากภาคเอกชนตอบรับเรื่องการลงทุนรถไฟฟ้าทั้ง 11 สายที่จะวิ่งรอบเมือง เผลอแป๊ปเดียวราคาที่ดินก็พุ่งขึ้นเฉลี่ย 10% ทันที และยังดันให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มจาก 22.8% ของ GDP อีกด้วย

     จากแผนการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าโครงข่ายที่จะวิ่งรอบเมืองทั้ง 11 สาย ระยะทางรวม 480 กิโลเมตรในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ผุดขึ้นมาและภาคเอกชนก็ขานรับอย่างดี ซึ่งโครงการที่จะเกิดขึ้นนี้จะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯอย่างมาก ซึ่งทางผู้บริหาร BTS เองคาดการณ์ว่าถ้าทำสำเร็จแล้วจำนวนผู้ใช้บริการจะมากขึ้นถึง 20 % จากเดิมที่อยู่ที่ประมาณ 6% ซึ่งหลังจากแผนงานถูกประกาศออกไป ก็ผลักดันให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการตื่นตัวทันทีโดยเฉพาะเรื่องของราคาที่ดินและเรื่องของคอนโดมิเนียม   โดยสะท้อนได้จาก 2 ปีที่ผ่านมา มีคอนโดเปิดตัวมากและขายได้เฉลี่ย 70% และราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% จะมากกว่า 10% ในย่านกลางเมือง ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้น

     อย่างไรก็ดี ในอีก 5 ปีหลังจากนี้รถไฟฟ้าสายใหม่จะเปลี่ยนโฉมการอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ อยู่ที่นักพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์แต่ละรายว่าจะเลือกโปรดักต์เจาะกำลังซื้อในแต่ละพื้นที่กันอย่างไร ซึ่งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้านี้ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องของ ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มีราคาสูงขึ้นเท่านั้น สำหรับด้านสินเชื่อผู้อาศัยก็มีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้นด้วย นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินได้มีการกล่าวว่า เมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าขยายออกไป  ทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยหลายประเภทและเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น สินเชื่อเรื่องเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยจึงมีโอกาสขยายตัวสูงขึ้น อีกทั้งตอนนี้ทุกสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับเรื่องการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น เพราะถือว่าเป็นสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน

     แต่ถึงอย่างไรก็ดี แม้ว่ารถไฟฟ้าทั้ง 11 สายจะเกิดขึ้นจริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปัญหาความแออัดและการจราจรที่ติดขัดจะทุเลาลง แต่อย่างน้อยการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าก็น่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกที่ดีในการเดินทางให้กับผู้คนในเมืองมากยิ่งขึ้น