สงครามการค้าจีน-สหรัฐเริ่มส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ และส่งผลในเชิงลบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมหลายอย่าง โดยหลักๆเลยก็คืออุตสาหกรรมเหล็ก หลังจากสหรัฐฯใช้กฎหมายการค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ประกาศขึ้นภาษีเหล็กเพื่อให้จีนได้รับแรงสะเทือน แต่ผลปรากฎว่าไม่เพียงจีนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้กระทั่งไทยเองก็ได้รับผลกระทบหนักไปด้วย

นายกรกฎ   ผดุงจิตต์  เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากอเมริกาใช้มาตรา 232 ในกฎหมายการค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม หลายคนคิดว่าเป็นกฎหมายที่สหรัฐตั้งใจใช้เล่นงานจีนเพียงอย่างเดียว แท้ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะกฎหมายก็คือกฎหมายจะบังคับใช้กับประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อยู่แล้ว กฎหมายมีผลต่อทั่วโลกฉะนั้น การประกาศขึ้นภาษีเหล็กครั้งนี้ของอเมริกาจึงสะเทือนกับธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก ไทยเราเองจึงโดนผลกระทบเชิงลบตรงส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ตอนนี้โครงสร้างราคาเหล็กในตลาดเกิดความผิดเพี้ยนไปมาก หลายๆประเทศยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กต้องออกมาประกาศใช้มาตรการปกป้อง เพื่อกันการทะลักของเหล็กที่กำลังมีอยู่ล้นตลาด อย่างสหภาพยุโรป ตุรกี ตอนนี้พยายามหามาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกันอยู่ เรียกว่า ธุรกิจเหล็กตอนนี้ปั่นป่วนไปทั่วโลกเลยทีเดียว เพราะเหล็กในหลายๆประเทศกำลังล้นตลาด และมีแนวโน้มว่ากำลังจะทะลักเข้าไทยเสียด้วย

สำหรับประเทศไทยในช่วง 5 เดือนแรกเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เหล็กหลายรายการที่มีบทบาทในตลาดที่นำเข้าจาก 7 ประเทศมายังประเทศไทยอยู่ในระดับปริมาณการนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 เดือนแรกปีที่แล้ว อย่างเหล็กลวด เฉพาะการนำเข้าจากเวียดนามสูงขึ้นมาแล้วถึง 1,216.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนช่วงเดียวกัน ลวดเหล็กจากเวียดนามก็เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 98.2% เหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน นำเข้าจากจีนสูงถึง 72.3% และท่อเหล็กจากเวียดนาม นำเข้าสูงขึ้นถึง 60.3% เป็นต้น สถิติเหล่านี้คือตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงผลที่ตามมา ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

อีกสิ่งที่นายกรกฎ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่น่าหนักใจเกี่ยวกับธุรกิจเหล็กในตอนนี้ก็คือ “การสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า” แน่นอนว่า ตอนนี้อเมริกาต่อต้านเหล็กจากจีนเต็มที่ แต่ต้องไม่ลืมว่าโรงงานผลิตเหล็กของจีนมาตั้งโรงงานที่ไทยก็มี บริษัทเหล่านี้พอจะส่งออกไปยังสหรัฐจะใช้วิธีการ ไปขอใบ C/O (Country of Origin) ใบรับรองว่าสินค้านี้ผลิตในประเทศไทย หรือใบแสดงแหล่งกำเนิดสินค้า และในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าเหล็กบางส่วนเข้ามาจากจีนด้วย จากนั้นก็ทำการส่งออกไปพร้อมกันภายใต้แหล่งกำเนิดสินค้าไทย เรียกว่าเป็นการสวมสิทธิ์สินค้าไทย จึงเป็นปัญหาที่น่าหนักใจในธุรกิจเหล็กขณะนี้ที่ยังหาทางออกไม่ได้

ในส่วนของด้านโครงสร้างราคาของเหล็กก็ปั่นป่วนพอสมควร ในช่วงที่ผ่านมาจีนจะเป็นผู้คุมตลาดเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้โครงสร้างราคาไม่เป็นปกติ อย่างเช่น ราคาถ่านหิน ซึ่งจีนเป็นผู้ซื้อและส่งออกถ่านหินรายใหญ่ ก็ทำให้ราคาถ่านหินสูงขึ้น เช่นเดียวกับแท่งกราไฟต์อิเล็กโทรด ซึ่งใช้กับเตาหลอมเหล็กด้วยไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) สำหรับโรงงานผลิตเหล็กเส้น เหล็กแผ่น ทั้งหลายที่ใช้ตัวนี้เป็นวัตถุดิบในการหลอมเหล็ก ที่ก่อนหน้านั้นจีนกดราคาลงมา จนโรงงานแท่งกราไฟต์อิเล็กโทรดในโลกปิดกิจการ ในที่สุดจีนกลายเป็นฐานใหญ่ และมีอำนาจต่อรองสูงในการกำหนดราคา ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการทั่วโลกที่ต้องใช้แท่งกราไฟต์อิเล็กโทรด มาผลิตเตา EAF ในการหลอมเหล็กสูงขึ้นมาก เมื่อก่อนวัตถุดิบราคาสูงขึ้น ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กชนิดต่างๆ ก็สูงขึ้นตามกันเป็นทอดๆ ต่างจากปัจจุบันที่จีนพยายามเข้ามาแทรกแซงโครงสร้างราคาเหล็กทุกชนิดในตลาดโลก จนตอนนี้โครงสร้างราคาเหล็กเริ่มสับสนไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

ในช่วงนี้ธุรกิจเหล็กจึงเป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองอย่างมากว่าจะมีทิศทางแนวโน้มต่อไปอย่างไร ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกมากมายที่ต้องใช้เหล็กเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงาน หากเหล็กราคาปั่นป่วนแบบนี้ ราคาสินค้าหลายอย่างต้องปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน