ผลพวงจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯที่รุนแรงขึ้นทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น ทำให้สินทรัพย์ของไทยต้องเผชิญความเสี่ยงในการเทขายอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้เกิดแรงกดดันส่งผลต่อค่าเงินบาทที่จะอ่อนค่าลง อาจทะลุไปถึง 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียทำให้เกิดวิกฤตการณ์เงินในรอบใหม่ ซ้ำรอยปี 40

US-China-trade-warนายพูน พานิชพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ในระยะสั้นนี้ ค่าเงินในโซนเอเชีย โดยเฉพาะค่าเงินบาท จะยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ทั้งหุ้นและพันธบัตรของไทยถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าหวั่นใจก็คือ การเทขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ตอนนี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ที่เกิดการเทขายไม่สามารถปรับสมดุลตลาดได้ มีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ ก็จะเกิดลุกลามบานปลายขยายตัวเป็นวงกว้างซึ่งอาจจะนำไปสู่วิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจคล้ายๆปี 40 ได้

1285นายพูน พานิชพิบูลย์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ไทยเรายังถือว่าเจอไม่หนักเท่าอีกหลายประเทศ อย่าง อาร์เจนตินา บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ ทุกประเทศเหล่านี้เจอผลกระทบส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ค่าเงินอ่อน เงินเฟ้อแรง แต่สถานการณ์ในไทยเรายังไม่รุนแรงขนาดนั้น จะเสี่ยงเป็นเหมือนปี 40 ไหม ก็อาจจะใกล้เคียงแต่เชื่อว่าจะไม่หนักขนาดนั้นสำหรับประเทศเรา แต่ยอมรับว่าช่วงนี้ค่าเงินบาทของไทยเราผันผวนจริงและมีทิศทางอ่อนค่าลงเยอะ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว มองว่า ค่าเงินบาทยังมีโอกาสที่จะกลับไปแข็งค่าได้ต่อ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังคงดีขึ้น การท่องเที่ยวยังคงสดใสและแนวโน้มเงินทุนต่างชาติไหลเข้าในช่วงก่อนการเลือกตั้ง คาดว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 จะเห็นแนวโน้มเงินบาทกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วงปลายปีจะอยู่ที่ 31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

Virathaiด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไทยเราระมัดระวังต่อเนื่องและมีกันชนที่ดี เช่น ทุนสำรองฯ เรามากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ประมาณ 35 เท่า และมากกว่าหนี้ต่างประเทศ โดยไม่พึ่งเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่า จะเกินดุลประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8-9% ของจีดีพี จึงทำให้เราทำนโยบายการเงินเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจในประเทศได้ ต่างจากบางประเทศที่มีฐานะประเทศไม่มั่นคง