p2wo9hco1VJXKWnbW7X-o11

แม้ว่าไม่กี่เดือนที่ผ่านมากระแสโจมตีเรื่องของพลังงานและน้ำมันจะพุ่งเป้าไปที่ ปตท. อย่างเต็มๆ แต่ทางปตท.ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อ ล่าสุดดึงบริษัทลูกในเครือผนึกกำลังร่วมลงทุนกับญี่ปุ่น เตรียมผุดปั๊มเพิ่มอีก 40 ปั๊มทั่วกรุงเทพฯ

นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2561 บริษัทได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศความร่วมมือพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิทัลเทคโนโลยี พัฒนาไปสู่กรุงเทพฯเมืองอัจฉริยะ มุ่งยกระดับสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) เชื่อมโยงคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดียิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิทัลเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ โดย ปตท.และกรุงเทพธนาคมจะร่วมกันส่งเสริมผลักดันการพัฒนานวัตกรรม และการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาเมืองทั้งในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการขนส่งมวลชน ซึ่ง ปตท.จะเริ่มพัฒนาในปั๊ม ปตท.ในพื้นที่เขต กทม.กว่า 40 ปั๊มเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การพัฒนาสมาร์ทซิตี้แบบเต็มโครงการร่วมกับ ปตท.มีหลายเรื่องที่หารือร่วมกัน เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เรื่องการจัดการขยะ ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง โดยจะเริ่มจากการจัดทำข้อเสนอร่วมกัน มีกำหนดจะสรุปภายในเดือน ต.ค. 2561 นี้ ซึ่ง ปตท.จะเริ่มดำเนินการบริเวณศูนย์เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ ย่านบางซื่อ ถนนวิภาวดีรังสิตที่ ปตท.มีแผนจะพัฒนาร่วมกับพันธมิตรต่างชาติคือญี่ปุ่น

ที่ดินย่านบางซื่อนั้นเป็นของทางการรถไฟ เรื่องนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ก็ได้ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า ปตท.สนใจจะลงทุนสมาร์ทซิตี้ย่านบางซื่อ ซึ่งเป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท.และได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) ศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการครอบคลุมพื้นที่ 2,325 ไร่ รูปแบบการลงทุนนั้นจะเป็นแบบให้เอกชนร่วมลงทุนใน 15 ปีแรก ซึ่งการใช้เงินลงทุนจะสูงถึง 358,700 ล้านบาท

ยังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งเผยว่าทางบริษัทไจก้าของญี่ปุ่นให้ความสนใจในโปรเจคนี้มาสักพักแล้ว จึงได้ทำการมองเกมและศึกษาเรื่องการลงทุนไว้ล่วงหน้า เมื่อได้โอกาสแบบนี้ไจก้าจึงได้นำโครงการสมาร์ทซิตี้ของ ปตท.ที่ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้มารวมกับของ ร.ฟ.ท.เพื่อให้การพัฒนาที่ดินมีศักยภาพมากขึ้นใช้เวลาดำเนินการ 30 ปี แบ่งพัฒนา 3 เฟส เฟสละ 5 ปี พัฒนา 9 โซน จากเดิม 4 โซน ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท

หากโปรเจคนี้เกิดขึ้นจริง ย่านบางซื่อจะกลายเป็นแดนสวรรค์อีกโซนที่ความเจริญหลายๆด้านจะเข้ามามากขึ้น เป็นศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบราง มีทั้งรถไฟฟ้าในเมืองรถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง รถไฟขนส่งสินค้า รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน จนเป็นเขตแดนสมาร์ทซิตี้ของจริงแน่นอน