chinese-american-flag

สงครามการค้าจีน-สหรัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อทั่วโลก การค้าการส่งออกทั่วโลกเริ่มป่วน ไทยเราก็เริ่มหวั่นใจคาดการณ์ทิศทางไม่ได้ ด้านการส่งออกไทยครึ่งปีแรกเริ่มตุนสต็อกและขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวหลายภาคส่วนยังหวั่นใจและเป็นกังวล

หลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้า 25% สินค้าลอตแรกจากจีน รวม 818 รายการ นับตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ต่อด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าลอตที่ 2 อีก 284 รายการ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก เหล็ก โครงสร้างมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น เรียกว่าเป็นการประกาศสงครามการค้าอย่างชัดเจน ส่งผลให้จีนออกมาตรการตอบโต้กลับด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 25% กับสินค้าจากสหรัฐ 545 รายการ และลอต 2 อีก 114 รายการ เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช เนื้อวัว เนื้อหมู รถออฟโรด ทำให้ระบบการค้าการส่งออกของหลาย ๆ ประเทศเริ่มป่วน ในไทยเองเมื่อตรวจสอบการส่งออกไปที่ตลาด 2 ประเทศนี้ในช่วงครึ่งปีแรก พบว่าภาคเอกชนพยายามตุนสต็อกการส่งออก ทำให้การส่งออกไปที่ 2 ประเทศนี้มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น อย่างส่งออกไปตลาดสหรัฐ มูลค่า 13,613 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งออกไปจีน 14,935 ล้านเหรียญ ขยายตัว 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายวิศิษฏ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปแห่งประเทศไทย, ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2561 กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญภาคเอกชนจากสภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ เข้าร่วมหารือร่วมกับคณะทำงานสานพลังประชารัฐ D4 ด้านการส่งออก เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งภาครัฐมอบโจทย์ให้เอกชนประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐและจีน และไทยจะมีโอกาสทำตลาดได้อย่างไรบ้าง ก่อนจะทบทวนเป้าหมายการส่งออกปี 2561 ซึ่งกระทรวงวางไว้ที่ 8%ประเมินว่าผลจากสงครามการค้าในช่วงแรก สินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐขยายตัว เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ พลาสติก และชิ้นส่วนยานยนต์

ส่วนสินค้าที่จะส่งออกไปจีนมากขึ้น คือ มันสำปะหลัง ส่วนสินค้าที่ยังน่าห่วง เช่น ยางและผลิตภัณฑ์ยาง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป เครื่องซักผ้าที่ไทยถูกใช้มาตรการขึ้นภาษีปกป้องซึ่งจะมีผลทำให้ตัวเลขส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3-4 จากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 11% เอกชนมั่นใจได้ว่าภาพรวมการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้เกินจากเป้าหมาย 8% ประเด็นที่น่ากังวลคือผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร อาจจะทำให้ในปี 2562 จะเป็นปีที่คาดการณ์ทิศทางการส่งออกได้ยาก

สอดคล้องกับที่ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีหน้าคาดการณ์ลำบากกว่าปีนี้ ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังใช้มาตรการจะยังไม่ได้เห็นภาพชัด เพราะการเดินเกมของประธานาธิบดีทรัมป์ มีกลยุทธ์ที่จะเรียกแต่ละประเทศไปเจรจาเพื่อให้การยกเว้นการขึ้นภาษีรายประเทศ ซึ่งผู้นำเข้าสหรัฐได้มีการนำเข้าไปสต๊อกก่อนแล้ว หลังจากนั้นจึงจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน 2561 สหรัฐนำเข้าเพิ่มขึ้น 10%

สิ่งที่น่าห่วงก็คือ สถานการณ์ที่ประเมินยากในตอนนี้ ซึ่งเกมอาจออกมาได้ 2 รูปแบบ คือ สินค้าที่ถูกจีนและสหรัฐขึ้นภาษีจะทะลักเข้ามาไทย และผู้ผลิตจาก 2 ประเทศจะย้ายฐานการลงทุน และหันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต หรือไม่ก็ใช้เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่อาจมีปัญหาสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าไทยเพื่อส่งออก

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในปี 2562 ผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐกับจีนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถ้าหากส่งผลยืดเยื้อถึงสิ้นปีจะกระทบการส่งออกของไทยไปตลาดโลก เป็นมูลค่าราว 2,400-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5-0.6 ของ GDP โดยธุรกิจไทยในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก รถยนต์และส่วนประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามครั้งนี้ ควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงอาจต่ำกว่าคาดการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าภาคธุรกิจจะบริหารจัดการสถานการณ์ตรงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่ทดแทน หรือการโยกการส่งออกไปตามนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตหลบเลี่ยงผลของสงครามการค้า แต่คงต้องใช้เวลาและขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตในประเทศปลายทางด้วยเช่นกัน