รัฐคุชราต รัฐมัธยประเทศ และราชสถาน 3 รัฐในประเทศอินเดียประกาศกร้าว ไม่ให้ภาพยนตร์เรื่อง “ปัทมาวตี” (Padmavati)เข้าฉาย เพราะมีเนื้อหาที่บิดเบือนประวัติศาสตร์และออกไปในทางลบหลู่อดีตรานีซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวฮินดู

ภาพยนตร์เรื่องเดียว สั่นคลอนศรัทธาถึงขนาดประกาศ “ล่าหัว”

Rajasthan State President of the Rajput Karni Sena caste organisation Mahipal Singh Makrana (C) addresses attendees during a protest rally in Gandhinagar, some 30kms from Ahmedabad on November 12, 2017.
Rajput Karni Sena supporters gathered in thousands to protest against Sanjay Bhansalli’s controversial film ‘Padmavati’. / AFP PHOTO / SAM PANTHAKY

     เรื่องราวถ้าจะดูบานปลายออกไปสำหรับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บอลลีวูดเรื่อง “ปัทมาวตี” หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อน นายสุราจ พัล อามู ผู้นำพรรคภราติยะ ชนาตะ หรือ BJP พรรครัฐบาลอินเดีย ประจำรัฐหรยาณา ได้ออกมาประกาศกร้าวแบบดุเดือดถึงขนาดจะ “ล่าหัว” ของ ทีปิกา ปาทุโกณ นักแสดงนำหญิงของเรื่อง รวมถึง ซานเจย์ ลีลา ปันซาลี ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยนายสุราจประกาสให้รางวัลแก่ผู้ที่ตัดศีรษะสองคนนี้ถึง 100 ล้านรูปี (ประมาณ 50 ล้านบาท)เลยทีเดียว หลังจากนั้นไม่กี่วัน อีก 3 รัฐของอินเดียคือรัฐคุชราต รัฐมัธยประเทศ และราชสถานก็ออกมาประกาศแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใหม่ให้เหมาะสม

ศิลปะจำเป็นต้องอยู่กับความจริงเสมอไปหรือไม่

     ประเด็นที่ทำให้ “ปัทมาวตี” ถูกต่อต้านขนาดนี้ก็เพราะเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ ว่ากันว่ามีการบิดเบือนความเป็นจริง เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้นั้นเกี่ยวข้องกับรานีปัทมิณี หรือปัทมาวตี ผู้ปกครองนครของชาวฮินดูในอดีต ซึ่งรานีองค์นี้ได้มีการต่อสู้ปลดแอกตนเองเพื่อให้รอดพ้นจากการรุกรานของสุลต่าน อะลาอุดดิน คิลจี ผู้ครองนครเดลี ซึ่งเป็นมุสลิม แต่หลังจาก Trailer เรื่องนี้ถูกปล่อยออกมา กลับกลายเป็นว่าไม่ตรงใจผู้ชม เพราะดูจะมีเนื้อหาบิดเบือนไปเป็นประมาณว่าสุลต่านผู้เคยเป็นศัตรูกับรานีปัตมาวตี สุดท้ายไปตกหลุมรักรานีปัตมาวตีเข้าเสียเอง ซึ่งเพราะฉากตัวอย่างที่มีภาพการแสดงความรักโรแมนติกระหว่างสุลต่านกับปัทมาวตี ซึ่งผู้ที่มีความเชื่อและศรัทธาในพระนางรานีปัตมาวตีอยู่เดิมนั้นถือว่าเป็นความบิดเบือนอย่างยิ่งและเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ นั่นจึงทำให้เกิดการต่อต้านที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างที่เป็นข่าวออกมา และทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “ปัทมาวตี” ถูกเลื่อนฉายออกไปอย่างไม่มีกำหนด

     เมื่อสืบสาวราวเรื่องให้ลึกลงไป มีข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์ของอินเดียให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “รานีปัตมาวตีไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของอินเดีย เป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นโดยนักกวีเท่านั้น” ข้อมูลนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับความเชื้อของชาวฮินดูอีกมากมายที่เขาว่ากันว่าสืบเชื้อสายราชปุตมาจากพระนางรานีปัตมาวตี เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อเหลือเกินว่ารานีปัตมาวตีมีตัวตนอยู่จริง

ถอดบทเรียนจากประเด็น “ปัทมาวตี”

     สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียและ Feedback ที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้เราได้บทเรียนอะไรบางอย่างสะท้อนกลับมาที่ประเทศของเราไม่น้อย ในซีกโลกหนึ่งพัฒนาไปหาเรื่องของเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง พวกเขาสร้าง “ศรัทธา” ใหม่ให้เกิดขึ้นกับผู้คนด้วย “นวัตกรรม” แต่ในอีกซีกโลกหนึ่งก็เปิดรับเอา “ศรัทธา” จากฝั่งนู้นเข้ามาด้วย แต่ก็ไม่ทิ้ง “ศรัทธา” เดิมของตนเอง และยังคงยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นไว้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ คุณเห็นความแตกต่างหรือไม่ ฝั่งหนึ่งทำหน้าที่ “ผู้สร้าง” และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง แต่อีกฝั่งหนึ่งก็ทำหน้าที่เป็น “ผู้รับ” อย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน จะเกิดเทรนด์โลกที่ทันสมัยไปอย่างไร อินเดียก็ยังคงเป็นอินเดีย “ศรัทธา” ที่พวกเขามีไม่ว่าจะนานแค่ไหน โลกจะเข้าสู่ยุคไหนแล้วก็ตาม “ศรัทธา” ของพวกเขาก็ไม่เคยเปลี่ยน คนอินเดียที่หัวสมัยใหม่ก็มีมาก แต่ที่ยังคงความเชื่อและศรัทธาในสิ่งเดิมก็มีอยู่ไม่น้อย หากจะเรียกว่าเกินครึ่งประเทศก็คงจะถูกต้อง แล้วบ้านเราล่ะ ถ้านำมาเทียบ ตอนนี้คนไทยเราอยู่ในคนกลุ่มไหนของอินเดีย เราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงศรัทธาของเราหรือไม่เมื่อเรามีปัญญาเพิ่มขึ้น? แต่ต้องขอบอกทุกท่านไว้อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าคุณจะทำสิ่งใด จะทำงาน พูดคุยประจำวันกับเพื่อนๆลูกค้าหรือใครก็ตาม จงอยู่ให้ห่างจากเรื่องของ “ศรัทธาและความเชื่อ” เพราะสิ่งนี้คือกำแพงแห่งสิทธิมนุษยชน ที่เรา “ไม่มีสิทธิ์” จะก้าวล่วงเข้าไป เล่นอะไรก็เล่นได้ ขายอะไรก็ขายได้ แต่อย่าไปยุ่งกับความเชื่อส่วนบุคคล เพราะมันจะเป็นภัยกับตนเอง