ข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ใครว่าจะมีแต่ด้านดี เพราะด้านเสียและอันตรายก็มีมาก ในสหรัฐฯเริ่มเตือนคนยุคใหม่ให้ระวังการใช้ข้อมูล-เทคโนโลยีให้มากขึ้นเพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่จะก่ออคติ และสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น
เทศกาลนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ดนตรี ภาพยนตร์ และสื่ออินเตอร์แอ็กทีฟ South by South West หรือ SXSW เป็นงานรวบรวมเทคโนโลยีและเทรนด์ยอดนิยมที่น่าสนใจทั่วโลกเอาไว้ด้วยกัน จัดขึ้นเป็นปีที่ 32 ระหว่างวันที่ 8-17 มี.ค. 2562 ที่เมืองออสติน มลรัฐเท็กซัส ของสหรัฐฯ โดยการจัดงานในปีนี้มีบุคลากรในแวดวงต่าง ๆ จากทั่วโลกที่สนใจการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง งาน SXSW นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเทศกาลแห่งความคิดสร้างสรรค์ และรวมคนมีความคิดมากมายเอาไว้ด้วยกัน
ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่มีการจัดเสวนาภายในงาน SXSW ครั้งนี้ ได้แก่ “การรับมือกับยุคสมัยแห่งความหวาดระแวง” ซึ่งเป็นผลจากการที่ทุกภาคส่วนในหลายสังคมทั่วโลกต้องเผชิญกับข้อมูลข่าวสารและการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเอาชนะผู้ที่เห็นต่างจากตนเอง ทำให้เกิดการคุกคามในโลกออนไลน์ และข้อมูลดิจิทัลส่วนบุคคลสุ่มเสี่ยงจะถูกละเมิด ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยกับความคิดนั้นๆคือไม่เห็นต่างมีความคิดและอุดมการณ์ไปในทางเดียวกัน จะเกิดการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น และคนกลุ่มนี้จะไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างใดๆทั้งสิ้น สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ คนกลุ่มนี้เมื่อมีน้ำหนักความเชื่อและการรวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้รับฟังข่าวลวงและข้อมูลเท็จที่มีเนื้อหาสนับสนุนหรือไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่พวกเขาคิด พวกเขาก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องจริงและมีความเป็นไปได้ เรียกว่า แม้ได้รับข่าวลวงมาแต่ถ้ามันตรงกับใจพวกเขา คนกลุ่มนี้ก็จะถือว่าเป็นเรื่องจริง
นิตยสารฟอร์บส์ได้รายงานอ้างอิงผลสำรวจความเห็นของ Edelman ซึ่งทำแบบสอบถามกับชาวอเมริกันทั่วประเทศ พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อรัฐบาล สื่อมวลชน บริษัทเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ถดถอยลงไปถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสถิติต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าข้อมูลที่ได้รับในปัจจุบันเต็มไปด้วยอคติ
การเสวนาภายในงาน SXSW บ่งชี้ว่า การบริโภคข้อมูลในโลกดิจิทัลควรคำนึงถึงหลักฐานอ้างอิงและข้อเท็จจริงเชิงสถิติประกอบด้วย ไม่ควรนำเสนอแต่ความคิดเห็นหรือข้อมูลเชิงสีสันที่มุ่งสร้างความขัดแย้ง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่มีผู้นิยมใช้กันเพื่อกระตุ้น ‘การมีส่วนร่วม’ ของผู้ใช้สื่อออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน การกระทำดังกล่าวก็ส่งเสริมให้เกิดข้อมูลเชิงลบ รวมถึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดระแวงในสังคม
สำหรับงาน SXSW ไม่ได้มีแค่การเปิดประเด็นเสวนาที่น่าสนใจแค่นี้เท่านั้น แต่ยังได้มีการประกาศมอบรางวัลนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนโลกที่ต้องคำนึงถึง ‘สังคม’ และ ‘อนาคต’ โดยรางวัลขวัญใจมหาชนที่เปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมลงคะแนน เป็นของโครงการ ‘ตุ๊กตาเป็ดเพื่อคนพิเศษ’ ของบริษัทประกันสหรัฐฯ
หุ่นยนต์เป็ด “อะแฟลก” ผลิตขึ้นโดยใช้ตุ๊กตาเป็ด สัญลักษณ์ของบริษัท AFLAC เป็นต้นแบบ โดยหวังจะให้หุ่นยนต์ดังกล่าวตอบโจทย์เรื่องข้อจำกัดของผู้ป่วยเด็กที่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว ทำให้ขาดโอกาสที่จะเจอเพื่อนฝูงหรือเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ผ่านการเล่นตามช่วงวัยของตัวเอง
การผลักดันโครงการหุ่นยนต์เป็ดได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ปกครองของเด็กที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เช่นเดียวกับกลุ่มบุคลากรการแพทย์และองค์กรเพื่อสิทธิผู้ป่วยเด็ก ซึ่งฟอร์บส์รายงานว่าโครงการหุ่นยนต์เป็ดของ AFLAC ช่วยเปิดโลกทัศน์ด้านการรักษาเยียวยาผู้ป่วยโรคมะเร็งทางด้านจิตใจ และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัทในด้านการช่วยเหลือสังคม นอกจากนี้ หุ่นยนต์เป็ดอะแฟลกยังได้รับรางวัลยอดเยี่ยมด้านหุ่นยนต์และฮาร์ดแวร์ในงาน SXSW ปีนี้ด้วย