เป็นที่ทราบดีว่าสถานการณ์ทั้งเรื่องของสภาพอากาศที่เลวร้าย ภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น กำลังเป็นที่กังวลของนานประเทศ แต่ประเทศใหญ่ๆ ก็ดูเหมือนจะแสดงแต่ท่าทีกังวลเท่านั้น ยังไม่มีใครใส่ใจและจริงจังกับการลดผลกระทบเรื่องเหล่านี้ ยูเอ็นจึงเริ่มพยายามกระตุ้นให้หลายชาติหันมาจริงจังและใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น
จากการประชุมคณะทำงานภาครัฐระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (ไอพีซีซี) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้มีการเผยแพร่รายงานออกมาเมื่อต้นสัปดาห์เนื้อหาเรียกร้องให้ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศต่างๆทั่วโลก เร่งหามาตรการป้องกันปัญหาอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้ส่งผลทำให้ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกละลายและเกิดพายุที่มีความรุนแรงมากขึ้น รายงานระบุว่า อุณหภูมิโลกขยับสูงขึ้นเกือบๆ 1 องศาเซลเซียส (1.8 องศาฟาเรนไฮต์) เมื่อเทียบกับต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การเผาผลาญเชื้อเพลิงจากฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน ล้วนเป็นตัวเร่งทำให้โลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยการศึกษาพบว่า อุณหภูมิโลกในขณะนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 (พ.ศ. 2643) ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินเป้าหมายของข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กรุงปารีสถึง 2 เท่า ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามโดยประเทศสมาชิกยูเอ็นเกือบ 200 ประเทศในการประชุมว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศซึ่งมีขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 2015
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เพียงแค่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส มนุษย์ก็ได้รับผลกระทบอย่างมากแล้วจากสภาพอากาศที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวทะเลในเขตอาร์กติกก็ละลายลงอย่างรวดเร็ว ในการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 ได้มีการตั้งโจทย์ระดมความคิดเห็นว่า โลกจะต้องทำอย่างไรหรือมีมาตรการอะไรบ้างหากต้องการจะควบคุมให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกและในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ผลสรุปที่ได้ในเวลานั้นคือ โลกต้องลดการปล่อยไอเสียในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 45% (เมื่อเทียบกับระดับของปี 2010) ภายในปี 2030 หรือพ.ศ. 2573
สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ อาจรุนแรงและน่ากลัวกว่าที่เราคาดกันไว้ ยูเอ็นจึงพยายามเสนอให้หลาย ๆ ชาติเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และเสนอว่าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ จะต้องขึ้นมาเป็นพลังงานกระแสหลัก 70-85% ที่โลกใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่จะทำได้จริงหรือไม่ จะมีชาติใหญ่ ๆ จริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหนก็คงต้องติดตามกันต่อไป