shopping121

กฎหมายภาษี e-Payment เริ่มบังคับใช้แล้ว สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้กรมสรรพากร เรื่องนี้เป็นประเด็นกับกลุ่มผู้ทำธุรกิจออนไลน์ มีหลายเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย แต่แล้วกฎหมายเรื่องนี้ก็มีผลบังคับใช้ในที่สุด

เราไม่ได้มีเจตนาว่าจะต้องไปไล่เก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ เพราะทุกคนที่มีเงินได้มีหน้าที่เสียภาษีอยู่แล้ว แต่การที่เรามีข้อมูลมากขึ้น จะทำให้เราสามารถจัดการกับกล่มผู้เสียภาษีได้ชัดเจนขึ้นและสามารถแยกคนดีกับคนไม่ดีออกจากกันได้ เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี

คำกล่าวของนายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ฐานะโฆษกกรมสรรพากร ที่ยืนยันว่ากฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์นี้บังคับใช้อย่างมีเหตุมีผล ไม่ได้ต้องการที่จะไปขูดรีดภาษีจากประชาชนหรือผู้ค้าออนไลน์ ก่อนจะว่ากันต่อมาดูรายละเอียดในส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญกันก่อน ซึ่งมีอยู่ 3 ประการที่ส่งผลกระทบต่อผู้ทำธุรกิจออนไลน์

1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร

2. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร

3.มียอดของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป โดยกำหนดให้รายงานข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมสรรพากร ครั้งแรกภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563

นั่นคือ 3 กลุ่ม 3 ประการที่เกี่ยวข้องอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ อันเป็นสาระสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้รับผลกระทบอย่างจัง

นายปิ่นสาย สุรัสวดี กล่าวว่ากรมสรรพากรจะใช้เวลาจากนี้ 180 วัน เพื่ออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48 ) พ.ศ. 2562 หรือที่เรียกว่า ภาษีอีเพย์เมนต์ โดยกฎหมายดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี โดยไม่ต้องยื่นรายการภาษีและนำส่งภาษีให้สรรพากรในภายหลังทั้งนี้ภายใต้กฎหมายดังกล่าวจะกำหนดให้สถาบันการเงินทำหน้าที่ยื่นแบบแทนผู้เสียภาษี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีที่ผู้จ่ายเงินเลือกจ่ายเงินผ่านตัวกลาง(เช่น ธนาคาร) ตรงนี้ก็เพื่อความสะดวกของประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากร

นายปิ่นสายชี้ให้เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นการรองรับการทำธุรกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามนโยบาย National e-Payment เพื่อให้สรรพากรได้รับข้อมูลมากที่สุดและสามารถแยกผู้เสียภาษีที่เป็นกลุ่มดีออกจากกลุ่มเสี่ยงได้ หากเป็นผู้ที่อยู่ในฐานภาษีและเสียภาษีอย่างถูกต้อง กรมสรรพากรจะได้ให้บริการที่ดีคือคืนเงินภาษีรวดเร็ว แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง กรมสรรพากรจะเข้าประกบรายคนว่า เกิดจากอะไร จึงขอย้ำว่ากฎหมายนี้ไม่การขูดรีดภาษีจากประชาชนแน่นอน