ใกล้ปีใหม่แบบนี้ใครที่ชอบเข้าวัดทำบุญและไม่อย่างเดินทางไปไกลกรุงเทพฯมาก เราขอแนะนำทริปทำบุญไหว้พระ 9 วัดจังหวัดอ่างทองกันเลย อันที่จริงแล้วจังหวัดอ่างทองมีวัดวาอารามอยู่ไม่น้อยแม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆก็ตาม และที่สำคัญอยู่ใกล้กรุงเทพฯมาก เดินทางแป๊ปเดียวก็ถึงแล้ว ใครกำลังคิดจะไปไหว้พระเสริมดวงให้เป็นศิริมงคลกับตัวเองรับปีใหม่อยู่ล่ะก็ เราขอชวนคุณไปทริปไหว้พระ 9 วัดอ่างทองกับเราเลย
1.วัดไชโยวรวิหาร
วัดไชโยวรวิหารหรือที่มักจะรู้จักกันในนาม “วัดเกษไชโย” วัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท และที่เป็นที่รู้จักกันดีเพราะว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือพลวงพ่อโตไว้กลางแจ้งในช่วงรัชกาลที่ 4 แต่ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้มีรับสั่งให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด แต่ระหว่างการทำงานที่ต้องมีการตอกวางเสาและลงรากฐานให้แน่นนั้น ทำให้เกิดแรงสะเทือนขึ้นนั่นจึงเป็นเหตุให้องค์หลวงพ่อโตเกิดพังลงมา รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่และพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” รวมถึงสร้างวิหารขนาดใหญ่สูงสง่า งดงามแปลกตากว่าวิหารอื่นๆ ความงดงามแห่งวัดนี้จึงปรากฎมาจนถึงปัจจุบันนี้นั่นเอง
2.วัดป่าโมกวรวิหาร
อำเภอป่าโมก เป็นอำเภอที่รู้จักกันดีในจังหวัดอ่างทอง ซึ่งวัดป่าโมกวรวิหารก็ได้ชื่อวัดมาจากชื่ออำเภอเช่นกัน วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามและเก่าแก่ ซึ่งมีการสืบค้นและสันนิษฐานกันว่าพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านในพระอุโบสถนั้นน่าจะมีการสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และที่น่าสนใจก็คือตำนานกล่าวขาน ที่ว่ากันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ นอกจากนั้นยังมีวิหารเขียนซึ่งเล่ากันว่าผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูง เข้าใจว่าเป็นแท่นซึ่งกษัตริย์เคยมาประทับยืนบริเวณนั้น และเท่านั้นยังไม่พอยังมีมณฑปพระพุทธบาท 4 รอย หอไตร และศาลเจ้าแม่ช่อมะขาม ที่ว่ากันว่าโยงกับตัวละครในวรรณกรรมเรื่องนายขนมต้มอีกด้วย
3.วัดจันทรังษี
วัดจันทรังษี เป็นวัดที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่าง 2 ฝั่งถนน โดยฝั่งทิศตะวันออกมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ “หลวงพ่อโยก” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา และทางฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของพระมหาวิหารจัตุรมุข ลักษณะสถาปัตยกรรมงดงาม ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ) องค์ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ด้วย นอกจากนั้นแล้ว ยังมีองค์สมมติพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเจ้าแม่กวนอิม ปางพันมือ สี่หน้า แกะสลักจากไม้หอมจากประเทศจีน ซึ่งได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ด้วย
4.วัดอ่างทองวรวิหาร
วัดอ่างทองวรวิหาร เดิมเป็นวัดเล็กๆ แยกเป็น 2 วัดชื่อวัดโพธิ์เงินและวัดโพธิ์ทอง แต่ปัจจุบันได้ถูกยกให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีแล้ว สืบค้นประวัติแล้วพบว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชดำริให้รวมเป็นวัดเดียว พระราชทานนามว่า “วัดอ่างทอง” จุดที่น่าสนใจของวัดแห่งนี้ก็อยู่ที่สถาปัตยกรรม พระอุโบสถมีความงดงามมาก มีพระเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมประดับกระจกสี ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย นอกจากนี้ยังมีเจดีย์สีทองอร่ามบรรจุพระบรมสารีริกฐาตุ และหอระฆังคู่ตั้งเด่นหน้ากุฏิไม้สักทรงไทยที่งดงามด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น
5.วัดขุนอินทประมูล
วัดขุนอินทประมูลนับเป้นวัดที่เก่าแก่มาก ทราบมาว่ามีการสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือตำนานของวัดนี้ ที่กล่าวถึงขุนอินทประมูลข้าราชการที่ยักยอกเงินหลวงมาสร้างพระพุทธไสยาสน์ เมื่อองค์พระมหากษัตริย์รับสั่งถาม ขุนอินทประมูลไม่ยอมตอบ จึงถูกเฆี่ยนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดขุนอินทประมูล” ด้วยแรงศรัทธาของขุนอินทประมูลจึงทำให้ภายในพระอุโบสถแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มียาวความถึง 50 เมตร ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “พระนอนองค์ใหญ่แห่งทุ่งโพธิ์ทอง” ซึ่งองค์พระนั้นมีพุทธลักษณะที่งดงามอ่อนช้อยตามศิลปะสุโขทัย ว่ากันว่าตั้งแต่อดีตนานมาวัดแห่งนี้มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้เสด็จมาสักการะบูชาพระพุทธไสยาสน์ องค์ใหญ่นี้มากมายหลายพระองค์แล้ว นอกจากนี้ยังมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาวและศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ เชื่อว่าเป็นโครงกระดูกของขุนอินทประมูลอันเป็นที่มาจองตำนานการสร้างวัดแห่งนี้ด้วย
6.วัดท่าอิฐ
วัดท่าอิฐ สร้างขึ้นในที่ดั้งเดิมซึ่งเข้าใจว่าเป็นสถานที่ปั้นเผาอิฐที่จะนำไปก่อสร้างวัดขุนอินทประมูล เมื่อสร้างวัดจึงขนานนามว่าวัดท่าอิฐ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน “หลวงพ่อเพ็ชร” และในวิหารประดิษฐานพระประธาน “หลวงพ่อขาว” เป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา ที่สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็นเลยก็น่าจะเป็นพระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง สีเหลืองทองอร่ามโดดเด่น ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม รูปแบบศิลปะลังกา-อยุธยา และรัตนโกสินทร์ มีความงดงามมาก
7.วัดม่วง
วัดม่วง ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในโลกพระนามว่า “พระพุทธมหานมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” สร้างขึ้นเพื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ในวโรกาสที่พระองค์ครองสิริราชครบ 50 ปี พระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้มีลักษณะงดงาม และใหญ่โตจริงๆ ดังองค์เป็นสีทองอร่าม สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล นอกจากนั้นแล้วโบสถ์ที่วิจิตรงดงาม ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติก็ยังเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่สะดุดตาผู้ที่ไปเยี่ยมชมด้วย และยังมีรูปปั้นจำลองแดนนรก แดนสวรรค์ และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่แฝงคติสอนใจพุทธศาสนิกชนทุกคนอีกด้วย
8.วัดต้นสน
วัดต้นสน ว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งวัดที่เก่าแก่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง” หรือ “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ริเริ่มก่อสร้างโดย พระราชสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดต้นสนเดิม ซึ่งเมื่อคุณเข้าไปภายในคุณจะพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ ลงรักปิดทองคำแท้ มีพุทธลักษณะที่งดงาม นอกจากนี้ภายในอุโบสถยังมีความวิจิตรงดงามไม่แพ้วัดใด
9.วัดท่าสุทธาวาส
วัดท่าสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่ในสมัยอุยธยาตอนต้น มีพงศาวดารกล่าวถึงว่าพระนเรศวรฯ ได้รวมพลกองทัพที่บริเวณวัดแห่งนี้ก่อนที่พระองค์จะนำพลกองทัพเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้เพื่อเสด็จไปวัดป่าโมกที่อยู่ฝั่งตรงข้าม นั่นจึงทำให้บริเวณด้านหลังพระอุโบสถมีการสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถประทับนั่งทรงเครื่องกษัตริย์อยู่ด้วย และเมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถของวัดก็จะพบพระประธานพระพุทธรูปหินทรายปั้นปูนปิดทองทับ และพระพุทธรูปหินทรายศิลปะอยุธยาตอนต้น พระบรมสารีริกธาตุ และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม