ทางธนาคารโลกได้มีการจัดอันดับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของแต่ละประเทศทั่วโลกผลปรากฎว่าประเทศสิงคโปร์มาแรงเป็นอันดับ 1 ในเรื่องนี้ ส่วนไทยก็ติดอันดับอยู่ในลำดับที่ 65 จากทั้งหมด157ประเทศ
ทางธนาคารโลกให้ความสนใจในเรื่องของคุณค่าทรัพยากรมนุษย์เสมอมา จึงได้จัดทำการวิเคราะห์ประเมินผลและจัดอันดับการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ขึ้น โดยได้ประเมินไปทั่วโลก การประเมินก็จะมีการพิจารณาจากอัตราการเกิดของเด็ก การลงทุนด้านการศึกษา และระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของเด็กในแต่ละประเทศ เนื่องจากเด็กจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอนาคต จากการประเมินผลออกมาก็คือ ประเทศในเอเชียหลายประเทศได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆของโลกในเรื่องนี้ โดย
สิงคโปร์ได้อันดับ 1 ด้วยคะแนน 0.88 จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน
อันดับ 2 เกาหลีใต้
อันดับ 3 ญี่ปุ่น
อันดับ 4 ฮ่องกง
อันดับ 5 ฟินแลนด์
สำหรับประเทศที่อยู่ใน 20 อันดับสุดท้ายของการจัดอันดับครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปแอฟริกา เนื่องจากเยาวชนในประเทศเหล่านี้หลายล้านคนได้รับอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอ และไม่ได้รับการศึกษาที่จะช่วยให้สามารถประกอบอาชีพที่มีรายได้มั่นคงในอนาคต โดยมีประเทศ ชาด ในทวีปแอฟริกากลางได้อันดับสุดท้าย ด้วยคะแนน 0.29
ส่วนประเทศไทยได้อันดับที่ 65 ด้วยคะแนน 0.60 ได้คะแนนเท่ากับประเทศเอกวาดอร์ โรมาเนีย อุรุกวัย และอาเซอร์ไบจาน โดยประเทศไทยได้คะแนนตามหลังมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 55 ด้วยคะแนน 0.62 ขณะที่เวียดนามครองความโดดเด่นด้วยอันดับที่ 48 ด้วยคะแนน 0.67 ส่วนประเทศในภูมิภาคที่ถูกจัดอันดับถัดจากไทย คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา และลาว
การจัดอันดับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของธนาคารโลกครั้งนี้สอดคล้องกับรายงานคุณภาพชีวิตเด็กประจำปี 2018 ขององค์กรช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ Save the Children ซึ่งระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเด็ก จากการประเมิน 175 ประเทศทั่วโลก ตามมาด้วย สโลวีเนีย นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์
ธนาคารโลกมองว่า การจัดอันดับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชากรที่ได้ผลดีกว่าดัชนีแบบเดิม ที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่รายได้ของประชาชนอาจลดลง ซึ่งการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นด้วย เนื่องจากประชากรในวัยเด็กที่มีคุณภาพมากขึ้น จะเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต