สำนักข่าว Munchies/Vice ของต่างประเทศ มีการตั้งข้อสังเกตว่าในสหรัฐอเมริกามีร้านอาหารไทยอยู่เยอะจนเป็นที่ผิดสังเกต ทั้งๆที่จำนวนคนไทยในสหรัฐนั้นก็ไม่ถือว่ามีมากถ้าเทียบกับประชากรของชาติอื่นที่มาอยู่ในสหรัฐฯ เมื่อสืบค้นไปจึงพบว่านี่เป็นความจงใจของภาครัฐไทยที่ต้องการให้อาหารไทยเปิดตลาดได้แบบเดียวกันกับแมคโดนัลด์

     เราคงต้องยอมรับว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อทีเดียวและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว คนทั่วโลกต่างยอมรับว่าอาหารไทยทั้งรสชาติดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และนี่เป็นแนวนโยบายจากภารัฐของไทยในทุกๆรัฐบาลที่จะผลักดันอาหารไทยให้ไปไกลในระดับโลก สามารถเปิดเป็นแฟรนไชส์ได้แบบไม่อายใครและสามารถกระจายไปในทั่วโลกได้อย่างแมคโดนัลด์

    ด้วยความนิยมของอาหารไทยมีมากในต่างแดนโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา นั่นทำให้สื่อต่างประเทศเกิดความสนใจ เมื่อได้มีการสำรวจจึงพบว่าชาวนิวยอร์กชื่นชอบอาหารไทยมาก มีการสั่งกลับบ้านและสั่งแบบเดลิเวอรี่ก็เยอะ อีกทั้งเมื่อลงพื้นที่ไปดูก็พบว่าแทบทุกหัวมุมถนนในนิวยอร์กมีร้านอาหารไทยเปิดอยู่โดยตลอดนั่นทำให้สื่อต่างประเทศดังกล่าวรู้สึกแปลกใจมาก เพราะไม่คิดว่าร้านอาหารไทยในสหรัฐจะมีเยอะมากขนาดนี้ ไม่เพียงสื่อเท่านั้น ประชาชนชาวอเมริกันเองก็เพิ่งรู้สึกว่าร้านอาหารไทยในสหรัฐฯมีเยอะจริงๆ

     เมื่อมาเทียบกับร้านอาหารชาติอื่นๆในสหรัฐฯ อย่างร้านอาหารเม็กซิกันและร้านอาหารจีนแล้ว ก็ถือว่าร้านอาหารไทยมีน้อยกว่าพอสมควร แต่ทั้งร้านอาหารเม็กซิกันและร้านอาหารจีนดูอัตราส่วนแล้วสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกับจำนวนประชากรของคนชาตินั้นๆที่เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ อย่างคนจีนมีอยู่ 5 ล้านคน คนเม็กซิกันมีอยู่ 36 ล้านคนในสหรัฐฯ แต่เมื่อสอบถามข้อมูลไปยังสถานทูตไทยในสหรัฐฯ กลับพบว่าคนไทยที่ไปอยู่ในอเมริกามีอยู่เพียง 300,000 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนชาวเม็กซิกันอเมริกัน แต่ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯกลับมีอยู่ถึง 5,350 ร้านโดยประมาณ ผิดกลับร้านอาหารเม็กซิกันที่มีประมาณ 54,000 ร้าน สอดคล้องกับจำนวนประชากร จากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนร้านอาหารไทยต่อประชากรชาวไทยในสหรัฐฯมีมากกว่าถึง 10 เท่า

     จากการสำรวจดังกล่าว เราจะเห็นว่าอาหารไทยได้รับความนิยมในสหรัฐฯจริงๆ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้อาหารไทยเป็นนิยมก็มาจากรสชาติความอร่อย ความหลากหลายในเมนู และเป็นอาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ อีกทั้งภาครัฐไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็อัดงบสนับสนุน พยายามผลักดันอาหารไทยไปสู่ต่างแดนอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกและเสริมในด้านการท่องเที่ยวของไทย และแม้ว่าร้านอาหารไทยในสหรัฐฯในปัจจุบันนี้จะยังไม่ไปไกลถึงขั้นแมคโดนัลด์ตามที่ผัน แต่ก็เรียกว่ามาไกลมากทีเดียว

     Munchies ระบุว่ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมากกว่าคนในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ได้ร่างแผนธุรกิจ ‘ร้านอาหารต้นแบบ’ ไว้ 3 แบบ เพื่อให้นักลงทุนเลือกแผนการเปิดร้าน ตั้งแต่เรื่องความสวยงามไปจนถึงเมนูอาหาร

1. Elephant Jump จะเป็นร้านอาหารแบบลำลอง ราคาประมาณ 150 – 470 บาทต่อหัว

2. Cool Basil เป็นร้านอาหารราคาปานกลาง 470 – 780 บาทต่อหัว

3. Golden Leaf จะเป็นร้านอาหารที่มีการตกแต่งสวยงามแบบไทยโบราณ ราคาประมาณ 780 – 940 บาทต่อหัว

นอกจากให้เงินสนับสนุนและวางแผนธุรกิจต้นแบบแล้ว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังจับคู่นักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติให้ได้พูดคุยกัน ทำวิจัยการตลาดเกี่ยวกับรสชาติอาหารที่ถูกปากคนแต่ละพื้นที่ และส่งตัวแทนจากสถาบันทำอาหารไทยได้อบรมให้เชฟในต่างประเทศด้วย

     จึงต้องบอกว่าสหรัฐฯ กลายเป็นตลาดใหญ่สำหรับอาหารไทย และ มีแนวโน้มว่าจะขยายไปได้อีก นี่นับว่าเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งของไทย ที่ทั้งสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับประเทศไทยจริงๆ

 

อ้างอิง : munchies.vice