ช่วงนี้ต้องบอกเลยว่าอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจไทยถ้ามองกันในมุมลึกใช่ว่าจะดี เพราะปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ยังคงแฝงตัวอย่างลึกซึ้งในบริบทสังคมไทย และกลายเป็นปัญหาที่ยากจะแก้จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลและต้องติดตาม ยิ่งเมื่อย้อนไปดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในช่วงปี 2554-2558 (ระยะ 5 ปี) พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีโครงการจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนทั้งโครงการรถคันแรก โครงการบ้านหลังแรก ประกอบการในช่วงเวลาดังกล่าวมีปัญหาอุทกภัย – ภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ค่าแรง ค่าล่วงเวลาที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อย จนกระทบต่อรายได้ลูกจ้าง และทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เป็นผลต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 จากระดับร้อยละ 60.3 กระโดดขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 80.8 ณ สิ้นไตรมาส 4/2558 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการ
พอขยับเข้ามาปี 2559 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีได้ปรับลดลงอย่างช้าๆ โดยตามรายงานสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 77.5 ซึ่งแม้จะปรับตัวลดลงแล้ว แต่ถือว่า ยังอยู่ในระดับสูง หากเทียบกับประเทศอื่นๆ
ปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ถ้ามองในมุมที่ลึก จะพบว่า จะหนักไปที่เรื่องของ ‘สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิต’ การผ่อนรถ ผ่อนชำระบัตรเครดิตของคนกรุง ยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งดูย้อนแย้งกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ทางภาครัฐประโคมข่าวออกมาว่า ‘เศรษฐกิจดีขึ้น’ และถ้ามองไปที่คนอีกกลุ่มนั่นคือ กลุ่มเกษตรกร ‘หนี้ครัวเรือน’ ของพวกเขาก็ยังคงเป็นปัญหาที่ฝังลึกและยังคงถูกภาครัฐเมินเฉยอยู่เช่นเดิม เกษตรกรที่มีรายได้น้อย แต่มีหนี้สูงและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้เพิ่มขึ้น
เมื่อเป็นแบบนี้จะเห็นว่า ครัวเรือนไทยที่มีหนี้อาจมีปัญหาสภาพคล่องในการชำระหนี้มากขึ้น เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทยกับปัญหาหนี้สินดุจะมาลงรอย เป็นดั่งกันและกันได้ก็ตรงนี้ การทำมาค้าขาย และการทำธุรกิจในช่วง 3 – 4 ปีนี้ค่อนข้างเดินไปข้างหน้าลำบาก ทำให้คนเริ่มมีรายได้น้อยลง เมื่อคนมีรายได้น้อยก็มีกำลังซื้อน้อย แต่ความอยากได้อยากมีของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด จึงทำให้เกิดการก่อหนี้ ใช้จ่ายมากเกินตัว แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามีความสามารถชำระหนี้ได้การก่อหนี้ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ทว่ารายได้น้อย มีหนี้เข้ามามากกว่ารายได้ จึงทำให้ชำระหนี้กันไม่ไหว ส่งผลให้เกิดหนี้เสียในระบบการเงินมากขึ้นและก็ส่งผลกระทบย้อนกลับไปที่ระบบเศรษฐกิจไทยที่เริ่มชะลอตัวมาเรื่อยๆ
หากมองภาพเศรษฐกิจไทยปี 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิเคราะห์ต่างมองว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงกว่าปี 2561 จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีน ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่กำลังจะปรับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก การก่อหนี้สูงจะมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนในอนาคต และทำให้ครัวเรือนต้องมีการชำระหนี้ที่ยาวนานขึ้น ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี นับรวมเฉพาะหนี้ในระบบที่มองเห็นเท่านั้น ยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่ครัวเรือนอาจจะมีการกู้ยืมเข้ามาเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งมีการประเมินว่ามูลค่าอาจจะสูงกว่าหนี้ในระบบกว่าเท่าตัว
ดังนั้น การที่ภาครัฐจะหันมามุ่งมั่นแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าธุรกิจการค้าไปได้ดี คนก็จะมีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็คงต้องทำการบ้านครั้งใหญ่เลยทีเดียว