นิตยสารทางวิชาการ เดอะ แลนซ์ ได้ระบุว่า มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จะทำขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากหลายประเทศกว่า 40 คนซึ่งเป็นการศึกษาเทรนด์ประชากรโลกและการเสียชีวิตจากสาเหตุการตายต่างๆ พบว่ามลพิษในอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 9 ล้านรายทั่วโลกในปี 2015 ซึ่งคิดเป็น 16% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ตัวเลขนี้น่าตกใจที่ว่าเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกันถึง 3 เท่าเลยทีเดียว
จากการศึกษานักวิจัยพบว่าสาเหตุหลักๆที่ทำให้มลพิษทางอากาศมีผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนมากขึ้นก็มาจากการเติบโตของสังคมเมือง ยิ่งความเจริญมีมากขึ้นการปล่อยมลพิษให้กับโลกไม่ว่าจะทางอากาศหรือทางน้ำก็ยิ่งสูงขึ้น การเสียชีวิตของผู้คนประมาณ 6,500,000 ราย เกิดขึ้นโดยตรงจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นมลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการการเผาไหม้และผลิตเชื้อเพลิง การเผาไม้และถ่านหิน และ ผู้คน1,800,000 ราย ต้องเสียชีวิตเพราะสาเหตุจากมลพิษทางน้ำ อีก 1 ล้านคนเสียชีวิตจากมลภาวะในสถานที่ปฏิบัติงาน
นอกจากนี้นักวิจัยยังพบอีกว่า ผู้ที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุจากมลภาวะเป็นพิษ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ซึ่ง 92% ของผู้เสียชีวิตมาจากประเทศเหล่านี้ อันได้แก่ อินเดีย จีน ปากีสถาน บังกลาเทศ มาดากัสการ์ และเคนยา ซึ่งจากการศึกษาลึกลงไปนักวิจัยพบว่าที่อินเดียมีคนเสียชีวิตจากมลพิษเยอะที่สุด มีจำนวนถึง 2,500,000 ราย รองลงมาเป็นจีนที่มีผู้เสียชีวิต 1,800,000 ราย
อย่างไรก็ดีงานวิจัยชิ้นนี้ยังถือว่าไม่สมบูรณ์นัก เพราะยังไม่ได้ดูผลกระทบการเสียชีวิตจากสารเคมีติดไฟและจำพวกยาฆ่าแมลง ซึ่งถ้าหากรวมกลุ่มเหล่านี้เข้าไปด้วยแล้วตัวเลขน่าจะสูงขึ้นอีกมากทีเดียว แม้ปัจจุบันเทรนด์สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจของผู้คนก็จริง แต่สังคมยิ่งเจริญมากขึ้น กลับทำให้สภาพแวดล้อมแย่ลง มันจึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า การที่เราเจริญขึ้น คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นจริงหรือ ? คงต้องฝากทุกท่านไปหาคำตอบกันดู