สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้สะท้องมุมมองเกี่ยวกับบริบทสังคมไทยกับคนชั้นล่างที่ต้องหาเช้ากินค่ำผ่านบทความว่า การจะเปลี่ยนกรุงเทพฯให้มหานครที่สวยงามอย่างแท้จริง รัฐไม่ควรหักด้ามพร้าด้วยเข่า ทุกอย่างต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน การจัดระเบียบทางเท้าของกรุงเทพฯในวันนี้ดูจะเป็นการใช้อำนาจเข้าบังคับโดยตรงซึ่งสิ่งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อปากท้องและวิถีชีวิตของคนชนชั้นแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     TDRI สะท้อนมุมมองว่า  ช่วงหลายปีหลังนี้ ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นมหานครแห่ง street food หรือ ‘เมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนน’ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศชื่นชอบแต่เสน่ห์เหล่านี้กำลังจะเสื่อมมนต์ขลังและหมดไปในไม่ช้า ด้วยคำว่า “จัดระเบียบ” จึงเป็นแนวทางที่ภาครัฐบังคับใช้อย่างเด็ดขาดเพื่อทำให้กรุงเทพมหานครดูสะอาดตาและเป็นระเบียบ ในส่วนหนึ่งความคิดนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ แต่อย่างไรก็ดีรัฐควรจะมีวิธีการที่ละมุนละม่อมมากกว่านี้ ควรให้เวลาชาวบ้านที่จะปรับตัวตั้งรับ รวมถึงตัวรัฐเองก็ควรจะมีเวลาพิจารณาแผนรองรับในเรื่องนี้ให้ดีเสียก่อนด้วยก่อนที่จะใช้อำนาจ

12670292283_6be03ee4a1_b_0     ต้องยอมรับว่า เทรนด์ street food ในทั่วโลกเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับความนิยม ประเทศไหนที่เน้นการท่องเที่ยว เสน่ห์ของเมืองนั้นๆก็จะอยู่ที่การมี street food นี่เอง เมืองไทยเราก็เป็นเมืองที่เน้นการท่องเที่ยว ถ้า street food หายไป นั่นหมายถึงคุณค่าและความหมายของเมืองก็หมดไปด้วย และแน่นอนมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ย่อมลดน้อยถอยลง แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ปากท้องของประชาชนชั้นล่าง ที่ต้องพึ่งพาเลี้ยงชีพด้วยการขายของข้างทางแบบหาบเร่แผงลอย ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐเลยว่าจะแก้ไขในเรื่องนี้อย่างไร อำนาจที่รัฐใช้เหมือนให้ความสำคัญกับหน้าตาและวัตถุ บ้านเมืองดูดีมีระเบียบ แต่คนที่อยู่ในบ้านนั้นกลับเดือดร้อนไม่มีกินมีใช้ พิจารณาถึงจุดนี้แล้วดูเหมือนจะไม่คุ้มกันนัก

     ในด้านผลกระทบต่อชีวิตของแม่ค้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอยนั้น งานวิจัยของธรรมศาสตร์ พบว่ามากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ค้าเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิงและจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ทำให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นน้อยมาก การยกเลิกจุดผ่อนผันที่ผ่านมาจึงทำให้ชีวิตคนเหล่านี้มีความลำบาก มีหนี้สินเพิ่มขึ้น มีความเครียด อาการทางจิต และมีหนึ่งรายที่ฆ่าตัวตาย (แต่ยังไม่แน่ว่าเป็นผลจากการถูกเลิกขายหรือไม่)

     สิ่งที่ TDRI ตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจคือ TDRI เห็นด้วยกับการจัดระเบียบ แต่อยากจะถามว่ารัฐมีมาตรการแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร เมื่อคนที่ต้องขายของแบบหาบเร่แผงลอยขายของไม่ได้ ? คือ รัฐเองก็ยังไม่มีพื้นที่รองรับทดแทนที่จะให้พ่อค้าแม้ค้าเปลี่ยนไปขายในโซนอื่น ซึ่งแม้จะมีแล้ว แต่ก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเป็นไปได้ตามหลักความเป็นจริง อย่างพ่อค้าแม่ค้าบ้านอยู่แถวเสาชิงช้า เขาเคยขายของอยู่คลองถม คลองหลอด แต่รัฐไม่ให้ขายในแถบนั้น แต่ให้ไปขายอยู่สายใต้ใหม่ซึ่งเป็นโซนห่างไกลกันมาก พ่อค้าแม่ค้าจะทำอย่างไร ลูกค้าขาประจำก็มีอยู่ตรงนี้ย้ายที่ขายลูกค้าก็หาย ค่าขนส่งก็ต้องเพิ่มขึ้น รัฐยังแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้แต่ก็รีบใช้อำนาจเกินไป จึงเป็นปัญหาที่รัฐควรจะต้องพิจารณาดูอีกครั้ง อะไรที่ควรผ่อนปรนและให้เวลาก็ควรจะให้เวลาบ้าง ไม่อย่างนั้นกรุงเทพมหานคร จะเป็นเพียงเมืองที่สวยแต่เปลือกเท่านั้น มีวินัยแต่ไม่มีกินมีใช้ จะเอาแบบไหนรัฐคงต้องเลือกเอา