เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ต้นแบบธุรกิจเกษตรที่มาจากการต่อยอดความรู้ที่เรียนมา นำไปสู่การทำธุรกิจที่สร้างรายได้สามารถครองตลาดภาคเหนือ และยังเติบโตจนแข็งแกร่งพอที่จะสู้ในสนามเขตการค้าเสรี (FTA)กับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์แบบไม่กลัวใคร

จาก Passion สู่การเติบโตทางธุรกิจ

‘เชียงใหม่เฟรชมิลค์’ ก่อตัวได้ต้องบอกว่ามาจากความรัก และความหลงใหลในเรื่องสัตวบาลของ ดร.บัลลพ์กุล ทิพย์เนตร ประธานกรรมบริหารบริษัท เชียงใหม่ เฟรชมิลค์ จำกัด เขาผู้นี้เป็นอดีตนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ สาขาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขามีความความชื่นชอบและหลงใหลในการดูแลรักษาสัตว์ เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้รีดโคนมในวิชาเรียนโคนมทุกครั้ง ความสุขและความหลงใหลในสิ่งเหล่านี้นำเขามาสู่การทำธุรกิจเกษตรฟาร์มโคนมหลังเรียนจบ ในช่วงแรกนั้นใช่ว่าเรียนจบแล้วเขาจะสามารถออกมาตั้งกิจการทำธุรกิจฟาร์มของตัวเองได้เลย บัลลพ์กุล ทิพย์เนตรเริ่มทำงานครั้งแรกกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนม ที่ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้วใกล้ๆกับสวนสัตว์เชียงใหม่ เขาเลือกทำงานกับที่นี่ไม่ใช่ว่าเพราะเรียนมาสายนี้อย่างเดียว อีกส่วนหนึ่งเขาต้องการประสบการณ์สายตรงและการเรียนรู้แบบจริงๆนอกห้องเรียนกับการได้ลองทำงานในรูปแบบที่เขาต้องการ 7 ปีที่เขาทำงานอยู่กับที่นี่ในแบบพนักงานประจำ และด้วยภายในของเขามีความเป็นผู้ประกอบการอยู่เต็มหัวใจ เขาจึงนำทุกสิ่งที่เขาสะสมมาตลอด 7 ปีบวกกับความรู้ในห้องเรียนที่เขาได้ร่ำเรียนมา ออกมาทำฝันของตนเอง คือ เปิดโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์เล็กๆ ภายใต้แบรนด์ ‘เชียงใหม่เฟรชมิลค์’

สติกเกอร์เชียงใหม่_3-1-coverแน่นอนว่าทุกการเริ่มต้นย่อมมีการล้มลุกคลุกคลาน 2 ปีแรกกับเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ไม่ได้สวยอย่างที่คิด ธุรกิจเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงขาดทุนตลอด ทั้งหาตลาดไม่ได้วัตถุดิบที่มีต้องเหลือทิ้ง บางครั้งเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ปัญหามากมายที่เข้ามา แต่บัลลพ์กุลไม่ท้อ ค่อยๆแก้ปัญหาและสู้ไปเรื่อยๆ จนได้โควตาจากรัฐเพื่อทำโครงการนมโรงเรียน และจากจุดนั้นเชียงใหม่เฟรชมิลค์ก็ค่อยๆเติบโตอย่างแข็งแรงเรื่อยมา

ผสานความรู้จนนำมาสู่นวัตกรรม

กลยุทธ์ความสำเร็จของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ต้องบอกเลยว่า ได้มาจาก ‘ความรู้’ ดร.บัลลพ์กุล ทิพย์เนตรใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา รวมถึงประสบการณ์ในการคลุกคลีอยู่กับ เรื่องนมโค และการเลี้ยงวัวนมมายาวนาน ค่อยๆกะเทาะปัญหาธุรกิจเกษตร โดยเฉพาะธุรกิจฟาร์มโคนม เมื่อความรู้มีมากพอก็ทำให้เห็นปัญหาและจุดบอดของรูปแบบธุรกิจฟาร์มโคนมที่คนอื่นๆเคยทำมา ว่ามีปัญหาตั้งแต่

  • ผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มโคนมส่วนใหญ่ มีความรู้จริงแต่เรื่องวัวนม เรื่องนม แต่ขาดความรู้การบริหารจัดการธุรกิจฟาร์มโคนมแบบองค์รวม
  • ผู้ประกอบส่วนใหญ่รู้วิธีการคัดเลือกแม่วัวนมพันธุ์ดี แต่ไม่รู้วิธีการที่จะพัฒนาและขยายสายพันธุ์เพื่อให้ได้แม่วัวพันธุ์ดีที่มีน้ำนมคุณภาพพร้อมที่จะออกสู่ตลาด

เมื่อดร.บัลลพ์กุลมองเห็นจุดอ่อนของรูปแบบธุรกิจฟาร์มโคนมแล้ว เขาจึงทำการหาวิธีการแก้ไขจุดอ่อนและปิดช่องโหว่นั้น โดยการนำความรู้ที่ตนเองร่ำเรียนมาออกมาใช้ คิดค้นหาวิธีใหม่ๆ รวมทั้งการเสาะหาองค์ความรู้จากฟาร์มตัวอย่างที่ว่าดีเลิศทั้งในและต่างประเทศ ดูวิธีการเลี้ยงคัดสรร การเพาะพันธุ์ การใช้เทคโนโลยีมาผสานงานวิจัยในการปรับสูตรอาหารสำหรับแม่วัววัยเจริญพันธุ์ จนในที่สุดก็กลั่นกรองออกมาเป็นระบบบริหารจัดการแบบครบวงจร จนในที่สุด เชียงใหม่เฟรชมิลค์ กลายเป็น ‘ฟาร์มต้นแบบ’ ที่ผสานเอาความรู้ด้านการเกษตร ความรู้ด้านธุรกิจ การบริหารจัดการ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันจนเกิดนวัตกรรมใหม่ในการทำธุรกิจฟาร์มโคนม เป็นธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร ผลิตผลที่ได้มาเป็นนมโคแท้ๆนั้นจึงมีความเหนือชั้นกว่าคู่แข่งเพราะเป็นน้ำนมคุณภาพที่มีโปรตีนสูง ฉะนั้น หากจะกล่าวว่าเชียงใหม่เฟรชมิลค์ เติบโตแข็งแกร่งจนครองตลาดภาคเหนือได้นี้มาจาก การใช้กลยุทธ์ธุรกิจการ ‘ปิดจุดอ่อน’ และการนำความรู้ที่ได้เรียนมาใช้พัฒนาจากตำรากลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ อีกทั้งยังเอาองค์ความรู้นี้ไปขยายต่อเกษตรกร จึงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง พร้อมที่จะสู้ในระดับนานาชาติได้

ก้าวต่อไปของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ สู้เวที FTA

ตอนนี้เชียงใหม่เฟรชมิลค์กำลังเตรียมที่จะขยายตลาดส่งออกไปภูมิภาคอาเซียนภายใต้สนามการแข่งขันเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Area) ซึ่งขณะนี้เชียงใหม่เฟรชมิลค์ได้มีการส่งออกไปที่เมียนมาแล้ว ภายใต้แบรนด์ PEP และกำลังอยู่ระหว่างเจรจากับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มีความต้องการน้ำนมสูง ซึ่งศึกใน FTA นี้คู่แข่งสำคัญก็คือ ผลิตภัณฑ์น้ำนมจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งทางเชียงใหม่เฟรชมิลค์มั่นใจว่าจะสามารถสู้กับคู่แข่งได้อย่างสบายๆ

สรุปกลยุทธ์ธุรกิจที่น่าสนใจ
  • เริ่มต้นทำธุรกิจจากสิ่งที่รักและหลงใหล
  • รู้จักนำความรู้ที่เรียนมาในห้องเรียนมาปรับใช้
  • รู้จักเปลี่ยนตำรา ให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้จริง เปลี่ยนงานวิจัยที่เป็นแค่กระดาษให้กลายเป็นรูปธรรม
  • รู้ข้อดีข้อเสียของโมเดลธุรกิจตนเอง และ สามารถแก้ไขข้อเสียของตนเอง
  • มีการนำองค์ความรู้มาสร้างเครือข่ายกับกลุ่มธุรกิจเดียวกันเพื่อต่อยอดให้ยั่งยืน