สธ.เผยตัวเลขสถิติเด็กไทยอายุ 6-12 ปี ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นซึ่งจัดเก็บตั้งแต่ปี 2555 พบว่ามีมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งพบในเด็กชายมากที่สุด 12% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่พบ 10% โดยนพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยมีสมาธิสั้นมากขึ้นก็มาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่กระตุ้นให้เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นมีอาการที่แย่ลง โดยเฉพาะการเร่งรัดให้เด็กปฐมวัยอ่านออกเขียนได้ หรือการเลี้ยงดูให้เด็กอยู่กับสื่อมีเดีย สื่อไอทีประเภทต่างๆ ซึ่งผิดจากธรรมชาติที่เด็กจะต้องได้เล่นอย่างเหมาะสมกับวัย
รู้จักกับโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นหนึ่งในโรคจิตเวชเด็กที่พบบ่อย ลักษณะอาการมีตั้งแต่ซุกซน อยู่ไม่สุข ยุกยิก วอกแวกง่าย บางรายอาจมีลักษณะเหม่อลอย ไม่ซน อยู่นิ่ง เป็นอาการตรงข้ามกับแบบแรกแต่ก็พบได้น้อยกว่า และบางรายอาจที่อาการทั้ง 2 แบบเลย คือเป็นสลับกันเป็นช่วงๆ หลายคนอาจมองว่าความซุกซนเป็นธรรมชาติของเด็กอยู่แล้ว โรคสมาธิสั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล…บางทีความคิดนี้อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป
โดยทั่วไปโรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคร้ายแรง และสามารถรักษาให้หายได้ เด็กสมาธิสั้นก็เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป เพียงแต่พวกเขาไม่สามารถควบคุมตนเองได้อย่างเหมาะสมเท่านั้น อย่างไรก็ตามการที่เด็กสมาธิสั้นไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้นานหรือวอกแวกง่าย ทำให้เด็กขาดสมาธิ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ เรียนไม่ทันเพื่อนและดูเหมือนไม่รู้กาลเทศะ เช่นใน สถานการณ์ที่ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย เด็กทั่วไปจะสามารถปฏิบัติได้ ต่างจากเด็กสมาธิสั้นที่อยู่ในระเบียบได้ไม่นาน แม้จะถูกว่ากล่าวตักเตือนก็เชื่อฟังได้เพียงครู่เดียว แล้วก็กลับมาซุกซนใหม่ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่คนรอบข้าง อย่างนี้เป็นต้น
ผลกระทบจากสมาธิสั้น
ปัญหาที่พบในเด็กกลุ่มนี้คือ พ่อแม่ผู้ปกครองมักไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ เรียนรู้ได้ช้า เมื่อเด็กไม่สามารถทำงานตามที่มอบหมายได้ก็มักจะถูกดุด่าว่ากล่าวหรือถูกลงโทษ ทำให้เด็กรู้สึกกดดัน น้อยเนื้อต่ำใจ ดูถูกตนเอง และอาจเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นใจ ขาดพลังในการดำเนินชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ทั้งที่จริงๆแล้วเด็กอาจจะมีศักยภาพหลายอย่างซ่อนอยู่ แต่ไม่สามารถดึงออกมาใช้ได้เนื่องจากถูกความรู้สึกด้อยค่ากดทับไว้ จึงเสียโอกาสในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย อาการสมาธิสั้นส่วนใหญ่พบในเด็กอายุก่อน 7 ปี และจะมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้นจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านลบ และติดตัวไปจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออก เช่น การต่อต้านสังคม เกเร ใช้ความรุนแรง รวมถึงเสี่ยงติดยาเสพติด และเกิดภาวะอาการซึมเศร้า นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กโดยตรงแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็อาจต้องเผชิญกับภาวะความเครียดเพราะลูกทำไม่ได้อย่างที่หวังไว้ เกิดเป็นปัญหาครอบครัวตามมา นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญในการดูแลรักษาเด็กสมาธิสั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขนั่นเอง
แน่ใจได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น
การจะวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่นั้นจะต้องผ่านการซักประวัติอย่างละเอียดทั้งจากตัวเด็กเองและพ่อแม่ผู้ปกครอง ร่วมกับการประเมินอาการตามเกณฑ์การวินิจฉัยของแพทย์ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เด็กมีอาการคล้ายคลึงกับโรคสมาธิสั้น ยกตัวอย่างเช่น การได้รับยาบางชนิด (เช่น ยากันชัก ยารักษาโรคหอบหืด) ที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้เด็กอยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย ผลกระทบจากการเลี้ยงดู เช่น การให้เด็กเสพสื่อหรือเล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไป เนื่องจากสื่อต่างๆ เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กหลุดจากสมาธิได้ง่ายขึ้น หรือหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนยาก เกินศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กในวัยนั้นๆไม่ได้เป็นเพราะเด็กเรียนรู้ได้ช้า เป็นต้น
แนวทางการรักษาเด็กสมาธิสั้น
ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร นักวิชาการจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อมูลว่าการรักษาโรคสมาธิสั้นแบ่งได้เป็น 2 แนวทางหลัก ได้แก่ การปรับพฤติกรรมของเด็ก และการรักษาด้วยยา ซึ่งการจะใช้แนวทางการรักษาแบบใดนั้น แพทย์จะประเมินจากผลกระทบของโรคที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กและครอบครัว
การปรับพฤติกรรมของเด็ก ทำได้โดย
- เข้าใจ ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู และบุคคลใกล้ชิดพึงมี โดยควรเข้าใจว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลจากโรคสมาธิสั้นไม่ได้มาจากตัวเด็กเอง และปรับวิธีการเลี้ยงดูให้เหมาะสม เช่นใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์ดุด่าว่ากล่าวเด็ก ชื่นชมและให้กำลงัใจในสิ่งที่เด็กสามารถทำได้เพื่อให้เด็กเกิดความภูมิใจในตัวเอง
- ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เด็กสมาธิสั้นจะวอกแวกได้ง่าย จึงควรให้เด็กได้อยู่ในสถานที่สงบไม่มีสิ่งรบกวน ควบคุมการเสพสื่อไอที และการดูทีวี จัดตารางกิจกรรมให้เป็นเวลา ที่ดรงเรียนไม่ควรให้เด็กนั่งริมหน้าต่าง ควรจัดให้นั่งใกล้กับคุณครูเพื่อช่วยดึงความสนใจให้เด็กกลับมามีสมาธิกับงานที่ทำอยู่ เป็นต้น
- สร้างเงื่อนไข เช่น การให้รางวัลจูงใจหากเด็กทำภารกิจสำเร็จลุล่วงตามเงื่อนไข พบว่าเด็กสมาธิสั้นจะตอบสนองต่อการกระตุ้นด้วยของรางวัลมากกว่าเด็กปกติ โดยเด็กจะเกิดแรงผลักดัน และจดจ่อกับการทำภารกิจนั้นๆ มากขึ้นกว่าเดิม
การใช้ยา จะช่วยให้เด็กควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ตลอดชีวิต โดยแพทย์จะติดตามและประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากผลการรักษามีแนวโน้มดีขึ้น ก็สามารถปรับลดขนาดยาหรือหยุดยาได้
ความเข้าใจและการยอมรับเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลเด็กสมาธิสั้น เพราะการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็กถือเป็นการมอบโอกาสให้เด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ส่งผลดีทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม จึงไม่ควรปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป หากสงสัยว่าลูกหลายของคุณจะเป็นดรคสมาธิสั้น แนะนำว่าควรพามาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยจะเป็นการดีที่สุด