งานเทศกาลข้าวไทย 2560 หรือ Thai Rice Festival 2017 เริ่มต้นขึ้นแล้ว จากความร่วมมือทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จับมือกันร่วมจัดงานเทศกาลนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ข้าวตลาดเฉพาะข้าวคุณภาพของไทย ให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวจากพี่น้องชาวนา สู่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค
ภายในงานนั้นจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ความสุขจากท้องนา หรรษาสู่เมืองกรุง” มีการจำลองวัฒนธรรมท้องถิ่นในรูปแบบ “ถนนวิถีข้าววิถีไทย4 ภาค” ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ของดีแต่ละภาค โซนจำลองบ้านของแต่ละภาค ข้าวของเครื่องใช้ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมที่แสดงถึงวิถีข้าววิถีไทยและอัตลักษณ์ของคนแต่ละท้องถิ่น ซึ่งภายในงานมีอะไรที่น่าสนใจกันบ้างมาดูกันเลย
ภาคเหนือ
ถ้าเรื่องข้าวของทางภาคเหนือ ต้องยกให้นี่เลย “ข้าวเหนียวดำลืมผัว” ชื่อนี่พาหวาดเสียวเจ็บจี๊ดลึกๆสำหรับผู้ชายเหลือเกิน ข้าวหอมอร่อยแน่นอน แต่ตอนกินแล้วแล้วจะลืมคุณสามีหรือไม่ อันนี้ไม่ยืนยันกันล่ะนะ
ข้าวลืมผัว คนหุงอาจจะลืมผัว แต่ผัวที่กินคงอร่อยจนลืมไม่ลง
ของดีขึ้นชื่อภาคเหนืออย่าง “ไส้อั่ว” หรือ “แคปหมู” ก็มาด้วยในงานนี้ ไปซื้อชิมกันได้ราคาไม่แพง
บูธร้านน้ำพริกไทย ที่อร่อยถูกใจคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่คนเหนือนะเจ้า
มีแคปหมูแล้วถ้าคาดน้ำพริกกินคู่กันมันก็ไม่มันอย่างที่คิดล่ะสิจริงไหม จัดไปกับร้านน้ำพริกไทย อีกหนึ่งร้านของดีของอร่อยภาคเหนือ ขอบอกเลยว่าน้ำพริกอร่อยมาก ไม่ลองไม่ได้ มีน้ำพริกให้เลือกหลากหลายจนตาลายเลือกไม่ถูก เลยทีเดียว ร้านน้ำพริกไทยนี้ออกรายการทีวีมาแล้วหลายรายการนะจะบอกให้ใช่ย่อยซะที่ไหน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจพารวยที่น่าสนใจจริงๆ คนสนใจนอกจากจะชิมน้ำพริกรสชาติดีแล้ว จะติดต่อทำธุรกิจด้วยก็ไม่มีปัญหา ได้ของกินติดไม้ติดมือแล้วอย่าลืมแวะฟังการบรรเลงสะล้อซอซึงของชาวเหนือกันด้วย เพลงล่องแม่ปิงบรรเลงขึ้นมาเป็นใครก็ต้องหยุดฟังจริงไหม ได้บรรยากาศเหนือๆ แบบจัดเต็มเลยล่ะ
ข้าวก็สวย คนก็สวยนะเจ้า
ภาคอีสาน
เรื่องข้าวทางภาคอีสานเคยเป็นรองใครที่ไหน ขอแนะนำร้านนี้เลย “ข้าวกล้องผกาอัทปึล” ผกาอัทปึล นั้นเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย ที่แปลว่า “ดอกมะขาม” ซึ่งถ้ารวมความแล้วก็คือ ข้าวกล้องดอกมะขามนั่นเอง ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวพื้นถิ่นเมืองสุรินทร์ มีถิ่นกำเนิดแถบตะเข็บชายแดนไทยกัมพูชา เมื่อสุกแก่เปลือกของข้าวจะมีสีเหลืองอ่อน เหลืองเข้ม และสีดำคล้ำ ไล่เฉดสีกันไป เหมือนสีของดอกมะขาม เมล็ดข้าวจะเรียวยาว เมื่อนำมาหุงจะมีความนุ่มมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้นแล้วข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ก็น่าสนใจ หรือข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟจากจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ไม่ธรรมดา
ข้าวเรียงเฉดสีกันสวยงามมาก แถมอร่อยด้วย
เม็ดข้าวเรียวยาว เมื่อขัดขาวแล้วก็ดูใสบริสุทธิ์
ข้าวสุรินทร์สองสี
ใครเดินผ่านไปมาเริ่มหิว แวะกิน “ส้มตำแซ่บมาก” จากบูธเสรีไก่ย่างเขาสาวนกวางของดี OTOP 5 ดาวของคนขอนแก่นได้เลย แซ่บสมชื่อดังคำร่ำลือจริงๆ
ภาคใต้
เรื่องข้าวของภาคใต้ก็หาใช่เป็นรองภาคไหนข้าวหอมกระดังงา ข้าวสังข์หยดพัทลุงก็ขึ้นชื่อลือชา แต่ความน่าสนใจอื่นๆจากเรื่องข้าวถัดมาก็มีขนมลามาทำกันสดๆใหม่ๆ ให้คุณได้เลือกซื้อไปเป็นขนมรับประทานกัน
การสาธิตทำขนมลา
แต่มาแดนดินถิ่นใต้ด้ามขวานไทยทั้งที ถ้าไม่มีโรตีกินคู่กับชาชักก็กระไรอยู่จริงไหม จัดไปกับบูธโรตีทิชชู่มาลายูของดีเมืองปัตตานี
และมาเยือนถิ่นปัตตานีทั้งทีไม่หาชาชักกินก็ไม่ได้ จัดไปกับชาชักของศูนย์ฝึกฯปัตตานี รสชาติดีอย่าบอกใคร สำหรับชาวปัตตานีแล้ว การดื่มชานั่นมีความหมายที่ลึกซึ้ง เพราะชาไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนใต้ การดื่มชานั้นมีความละเอียดอ่อนและมีความเกี่ยวข้องโยงใยกับประเพณี ชาชักนับเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่คู่กับคนใต้มานาน นอกจากจะเป็นเครื่องดื่มขึ้นชื่อของคนใต้แล้วยังเป้นอีกหนึ่งอาชีพที่คนใต้ยึดถือและทำกันมาเนิ่นนานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งแม้คุณไม่ใช่คนใต้แต่สนใจจะทำอาชีพหรือหาธุรกิจเกี่ยวกับชาชักมาทำก็สามารถติดต่อกับบูธชาชักของศูนย์ฝึกฯปัตตานีได้ คนขายบอกว่า ชา 1 กระบอก ขายได้ประมาณ 12 แก้ว ขายแก้วละประมาณ 15 – 20 บาท ต้นทุนก็จะอยู่ที่ 60 – 70 บาทต่อ 1 กระบอก มีชาชักดีๆกินคู่กับโรตี อื้ม มันรู้สึกดีจริงๆ
ชาชักปัตตานีมาแบบ 3D กันเลยทีเดียว
ตัวปลอมหลบไป คนชักชาตัวจริงอยู่นี่แล้ว
ภาคกลาง
เป็นที่รู้กันดีข้าวภาคกลางใช่เล่นๆ งานนี้มาเต็มกับบูธตำนานข้าวภาคกลาง ร้านข้าวเจ๊กเชย ของสระบุรี ตำนานแห่งพันธุ์ข้าวที่มีความเก่าแก่และยาวนาน การจัดบูธของร้านนี้ก็สวนเท่โดดเด่นสะดุดตา
และที่ไม่ธรรมดากว่านั้น คือมีของดีภาคกลางหลายอย่างคนมาให้ชมชิมช้อปกันอย่างถ้วนหน้าจริงๆ เช่น ร้านหมูย่างโหวเส็กเจ้าดังจากนครปฐม หมูทอดกับหมูกรอบร้านนี้ใครไปชิมแล้วบอกไม่อร่อยยินดีให้ต่อยเลย
ถามแล้วไม่ซื้อแม่ค้าจะสับให้ (สับหมูนะ)
เขยิบเข้ามาใกล้กรุงเทพฯอีกนิด ไปเจอกับของดีนนทบุรี “ทอดมันหน่อกะลา” ของขึ้นชื่อลือชา คนเกาะเกร็ดนนทบุรี อร่อยจริงๆ ไม่ลองแล้วจะเสียใจ
นอกจากนั้นแล้ว กิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมของทางภาคกลางภายในงานก็มีจัดเกือบทุกวัน เช่น การระบำรำฟ้อนของภาคกลาง การแสดงลำตัดก็มี การสาธิตการสับไก่เพื่อให้รู้ถึงเทคนิคสับไก่สำหรับคนที่คิดจะขายข้าวมันไก่ ไก่ที่สับแล้วมีแจกให้รับประทานด้วยนะ แต่ขอบอกว่าเตรียมภาชนะไปใส่กันเองนะ ภายในงานไม่มีภาชนะให้จ้า
สาธิตการสับไก่
นอกจากนั้นแล้วยังมี “โซนนวัตกรรมข้าว” ได้รวบรวมสินค้าข้าวที่มีการวิจัยและพัฒนาจนเป็นนวัตกรรม อาทิ เครื่องสำอางจากข้าว ครีมบำรุงผิวจากข้าว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเป็นเครื่องดื่ม ของใช้ภายในบ้าน กาแฟผสมข้าวสังข์หยด เป็นต้นมาไว้ในงานด้วย
งานดีๆที่พาครอบครับไปเที่ยวได้
อัดแน่นจริงๆสำหรับของดีของเด่นของพี่น้องชาวไทยเราทั้ง 4 ภาค วันอาทิตย์ว่างๆแบบนี้ไปกันได้นะถ้าใครอยู่ไม่ไกลมาก งานจะเริ่มตั้งแต่ช่วงสายๆประมาณ 10 ดมงเช้าและก็ยาวไปจนถึงตอนเย็นๆ ค่ำๆกันเลย ย้ำกันอีกครั้ง เทศกาลข้าวไทย 2017 เริ่มตั้งแต่ 15 – 20 ธันวาคม 2560 ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพฯ งานดีๆเราต้องบอกต่ออยู่แล้ว