ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงสัปดาห์นี้ประเด็น “ฝุ่นละออง” เกินค่ามาตรฐาน ถูกนำมาเป็นกระแสพูดถึงอีกครั้งตามสื่อต่างๆหลังจากที่มีประเด็นนี้โผล่ขึ้นมาเมื่อต้นปีที่แล้วครั้งหนึ่งแล้วก็เงียบหายไป เมื่อภัยร้ายไม่มาถึงตัว คนก็ไม่เคยกลัวและไม่เคยตระหนัก นี่จึงเป็นการตั้งคำถามครั้งใหญ่ว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะใส่ใจสิ่งแวดล้อม และดูแลโลกให้มากขึ้น

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 วิกฤตสุขภาพคนใหม่

ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วข้ามมาจนสัปดาห์นี้ หลายคนคงพอสังเกตเห็นได้ว่าในท้องฟ้าของเรานั้นปกคลุมไปด้วยหมอกจางๆ โดยหารู้ไม่ว่าที่ตาเรามองเห็นนั้นกลับไม่ใช่หมอก หากแต่คือฝุ่นควันที่มีมากจนเกินค่ามาตรฐาน ดังที่กรมควบคุมมลพิษได้ออกมากล่าวว่า หมอกหนาทึบที่เรามองเห็นนั้นเกิดจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน แต่ก็มีบางคนสามารถสัมผัสได้ว่า สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่หมอก เพราะเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีหมอกจางๆเหล่านั้นสักพักจะเริ่มรู้สึกหายใจไม่สะดวกและเริ่มรู้สึกคันจมูก แรกๆ ปรากฏการณ์หมอกจางๆที่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เริ่มมีขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน แต่พอมาระยะต่อมา ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ได้แผ่ขยายออกไปสู่พื้นที่ปริมณฑล กินอาณาบริเวณกว้างขึ้น ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม หากจะวัดกันจริงๆว่าที่ไหนน่าจะหนักสุดและน่าเป็นห่วงสุดก็คงจะเป็น กรุงเทพฯ เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น และยังมีการก่อสร้างต่อเนื่องมากมาย

air-pollution-hearts_15311คำกล่าวว่า “คุณภาพชีวิตที่ดีของคนกรุงฯ” ตอนนี้คงต้องเปลี่ยนเสียแล้ว เมื่อภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินมาตรฐานนี้ปรากฏขึ้น ทำให้ชีวิตคนกรุงและคนเมืองทั้งหลายสุ่มเสี่ยงต่อ “วิกฤตสุขภาพ” นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลว่า คนทั่วไปที่แข็งแรง ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูง แต่สัมผัสไม่เกิน 8 ชั่วโมง โอกาสที่จะมีผลกระทบระยะสั้นค่อนข้างน้อย แต่คนที่เป็นโรคประจำตัว ขอให้ปรึกษาแพทย์ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในกรณีที่ต้องไปสัมผัสกับ PM2.5 ส่วนคนสูงอายุ เด็ก และคนที่สัมผัสฝุ่นละอองนานๆ ต้องเฝ้าระวัง ดูแลตัวเอง และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 กับความเข้าใจที่คนไทยควรรู้

PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน อาจเทียบอย่างง่ายว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กขนาดที่ขนจมูกของมนุษย์นั้นไม่สามารถกรองได้ ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง โดยที่ PM2.5 เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลักคือ

  • แหล่งกำเนิดโดยตรง การเผาขยะและสิ่งต่างๆในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง ปล่อย PM2.5 ราว 50,240 ตันต่อปี โดยมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งดีเซลและแก๊สโซฮอล์เป็นหลัก การผลิตไฟฟ้าก็ส่งผลด้วย รวมไปถึงเรื่องของการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
  • การรวมตัวของก๊าซอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน รวมทั้งสารอื่นๆ ซึ่งก๊าซและสารพิษเหล่านี้ล้วนก่อเกิดขึ้นจากกระบวนการอุปโภคบริโภคและการผลิตของมนุษย์ทั้งสิ้น หลักๆ ก็มาจากการใช้รถยนต์และการผลิตในอุตสาหกรรม

ด้วยองค์ประกอบของสารพิษเหล่านี้ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดรับกับรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 50,000 ราย ซึ่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนี้ส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องสูญเสียเกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากมลภาวะทางอากาศนี้อีกด้วย

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 กับวิธีแก้ปัญหาของแต่ละชาติ

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินค่ามาตรฐานและเข้ามาบั่นทอนคุณภาพชีวิตนั้นไม่ได้เพิ่งขึ้นขึ้นที่ไทย หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเผชิญวิกฤตนี้มาหลายปีแล้ว คำถามที่สำคัญก็คือ “เมื่อไทยต้องเผชิญปัญหานี้ จะแก้อย่างไร” เราลองมาดูวิธีการแก้ไขและลดฝุ่นละอองของประเทศต่างๆ ที่เคยเจอปัญหานี้กันดีกว่าว่าเขาทำอย่างไรกันบ้าง

จีน

  • สั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้าย
  • ระงับโครงการก่อสร้างในช่วงฤดูหนาว
  • ตั้งทีมขจัดควันพิษ ตระเวนห้ามคนเมืองกินปิ้งย่างกลางแจ้ง
  • ห้ามขายอาหารปิ้งย่างตามท้องถนน
  • ห้ามเผาใบไม้ทุกชนิด
  • วางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อเนื่อง 5 ปี

อินเดีย

  • ห้ามแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซลวิ่งให้บริการ
  • ทดลองให้รถยนต์เลือกวิ่งเฉพาะวันคู่ วันคี่
  • ห้ามจุดพลุไฟในเทศกาลต่างๆ

ฝรั่งเศส, กรีซ, เม็กซิโก, สเปน

  • เตรียมพร้อมเลิกใช้รถยนต์ดีเซล ภายในปี 2025
  • สนับสนุนให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ

เนเธอร์แลนด์

  • ห้ามขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล กระตุ้นให้ประชาชนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน

เยอรมนี

  • ใช้มาตรการบีบผู้คนไม่ให้ซื้อรถและไม่ให้อยากมีรถส่วนตัว เช่น ห้ามไม่ให้จอดรถใกล้บ้าน คิดค่าเช่าที่จอดรถแพง เป็นต้น

เกาหลีใต้

  • ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 8 แห่งชั่วคราวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
  • ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการถาวรในปีหน้า

เดนมาร์ก

  • รณรงให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์และหันมาใช้จักรยานแทน

จะเห็นได้ว่าแต่ละชาติก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาฝุ่นละอองที่ประเทศตนเองเจอนั้นหลักใหญ่เกิดขึ้นจากอะไร แต่ถ้าให้น้ำหนักแล้ว โดยมากเราจะเห็นว่า ปัญหาฝุ่นละอองเกิดขึ้นจากการ “ใช้รถยนต์” เป็นอันดับหนึ่ง และสอง “ระบบอุตสาหกรรม” หลายประเทศจึงเริ่มแก้ปัญหาโดย “หยุดใช้รถ” เป็นอันดับแรก

วิธีแก้ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานของไทย

TEMPLATE2018หลังจากสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเริ่มทำความน่ากลัวให้กับชีวิตคนเมืองของไทยมากขึ้น จึงทำให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเริ่มตื่นตัว ซึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของภาครัฐในบ้านเราตอนนี้คือ “ล้างถนน ฉีดน้ำในอากาศ” ลำดับถัดมาก็จะมีการหารือกับบริษัทรถยนต์ให้ปรับปรุงมาตรฐานไอเสียรถยนต์ และ ให้รถยนต์เปลี่ยนการใช้พลังงานจากดีเซลมาเป็นไบโอดีเซล นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในที่ประชุมว่าจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าสาเหตุหลัก 50-60% มาจากรถเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งรถบรรทุก รถกระบะ รวมถึงรถเมล์ นอกจากนี้ยังเกิดจากการเผาในที่โล่งประมาณ 35% ส่วนอีก 5-10% เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการลอยของฝุ่นเข้ามาจากพื้นที่อื่น

ที่น่าประหลาดใจก็คือ ผู้หลักผู้ใหญ่ดูเหมือนจะผลักภาระไปที่รถบรรทุก และรถสาธารณะเสียทั้งหมด ทั้งๆที่ปัญหาที่แท้จริงน่าจะเกิดขึ้นจากรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า ถ้ารณรงค์ให้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลน้อยลง และหันมาใช้รถสาธารณะมากขึ้นอย่างใน เยอรมนีและเดนมาร์ก น่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่าไม่ใช่หรือ ?

ที่สำคัญรถเมล์ ส่วนหนึ่งก็เป็นการนำเข้ารถจากภาครัฐด้วย หากรู้ว่ารถเมล์ไม่ดีมีส่วนทำให้อากาศเสีย แล้วทำไมภาครัฐถึงประมูลเอารถไม่ดีเข้ามาวิ่ง ? อีกประการลืมกันไปแล้วหรือว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าต่างๆก็ต้องมีการทุบรื้อก่อสร้างกันเป็นปีๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ที่สร้างฝุ่นละอองมากมายให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล

ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยต้องสนใจ “เทรนด์สิ่งแวดล้อม”

เทรนด์สิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่โลกกำลังจับตา มีหลายๆประเทศให้ความสำคัญและลงมือปฏิบัติแล้ว อย่างในอังกฤษมีการเก็บภาษีแก้วกาแฟเพื่อลดขยะ, ไอซ์แลนด์เริ่มทดลองช่วยปรับสภาพอากาศโลก ด้วยการหาวิธีเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นหิน, จีนเร่งดำเนินนโยบายพัฒนาพลังงานสะอาด ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและรักษาโลกของเราให้เป็นมิตรกับเรา ไม่กลับมาทำร้ายเรา แล้วคนไทยเราล่ะได้ตระหนักอะไรกันบ้างเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันบ้างหรือยัง


อ้างอิง : who.int-airpollution, who.int-health-topics, greenpeace