ใครๆก็คิดว่าการมี ‘ทีวีดิจิทัล’ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้ธุรกิจทีวีเติบโตขึ้นมาก ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นเช่นนั้นจริง แต่…ส่วนใหญ่แล้ว ‘ทีวีดิจิทัล’ กลายเป็นน้ำผึ้งอาบยาพิษ นักธุรกิจทีวีรายใหญ่ยังคาดการณ์ผิดต้องหมดงบเป็นหลักร้อยล้านเพื่อมาพังพินาศไม่เป็นท่ากับทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายขาดทุนย่อยยับ ต้องพยายามหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ปรับลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เปลี่ยนผังรายการและปรับลดพนักงานกันมากมาย ด้วยสภาพที่แข่งขันสูงแบบนี้จึงทำให้หลายช่องต้องขอหันหลังกลับน้ำผึ้งอาบยาพิษขวดนี้ไปตลอดกาล
ทีวีดิจิทัลกับบางช่องที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ดามพ์ นานา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส (RS) แจ้งว่า เดือน ธ.ค. 2560 สถานีโทรทัศน์ “ช่อง 8” ประสบความสําเร็จอย่างงดงามด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.65 ซีรี่ส์อินเดียตั้งแต่ “สีดาราม” ต่อด้วย “หนุมาน สงครามมหาเทพ”สามารถดึงเรตติ้งช่อง 8 ให้พุ่งกระฉูด แถมช่อง 8 ยังวางผังกีฬามวย ทั้งมวยโลกช่อง 8 UFC มวยกรงแปดเหลี่ยม และรายการมวยไทยต่างๆ เข้ามาเพื่อดึงสปอนเซอร์ ทำให้ช่อง 8 มีอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นและเป็นของขวัญชิ้นโตให้กับทางช่อง
อีกหนึ่งช่องที่ได้ดื่มน้ำผึ้งจริงๆก็คือ ช่อง MONO29 ตอนปี 59 ยังมีขาดทุน249.55 ล้านบาท แต่พอปี 60 ช่องมีการปรับผังรายการ เน้นภาพยนตร์แบบหนักมากขึ้นผสานกับซีรีส์ที่น่าสนใจจึงทำให้ เดือน ธ.ค. 2560 มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.803 เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2559 ที่มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.690 รายได้รวมในปี 60อยู่ที่ 2,575.71 ล้านบาท มีกําไรสุทธิ 58.17 ล้านบาท สำหรับปี 2561 นี้ คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจทีวีดิจิทัล 2,500-2,600 ล้านบาท จากปี 2560 ที่มีรายได้ 1,640.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 51.17%
ทีวีดิจิทัลกับยาพิษสูตรเข้มข้นสำหรับบางช่อง
ล่าสุดเมื่อประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ ผู้ดำเนินธุรกิจช่องนิวส์ทีวี ได้มีการออกมาประกาศว่า จำเป็นต้องปลดพนักงานออก 37 คน ทำให้ตอนนี้เหลือพนักงาน 40 คนเท่านั้น ส่วนรายการข่าวเช้าในบางวันจะถูกตัดออกเปลี่ยนเป็นรายการสารคดีแทนเพื่อลดต้นทุน แต่ในด้านของเนื้อหาอื่นๆก็ยังคงเน้นรายการข่าวที่หลากหลาย ทั้งบันเทิง อาชญากรรม กีฬา เศรษฐกิจ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะช่องขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
และที่ดูท่าทางจะดีและแข็งแกร่ง แต่เอาเข้าจริงก็เจ็บหนักเหมือนกันก็คือ ช่องวัน (ONE 31) ในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ถึงขนาดต้องมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นและได้กลุ่มทุนใหม่เลยทีเดียว เพราะเรตติ้งหลายรายการไม่เข้าเป้า นอกจากนี้ยังมีอมรินทร์ทีวีอีกช่องที่เจ็บหนักไม่แพ้กัน และแม้ขนาดบริษัท บีอีซี เวิลด์ (BEC) ยังเปิดเผยว่าตนเองก็ “กระอัก” แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นพี่บิ๊กมานานก็ต้องเก็บอาการกันสุดฤทธิ์ ปี 2560 มีรายได้รวม 1.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 10% จากปี 59 และมีกำไรสุทธิ 61.01 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 95% ด้านรายได้จากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่มบีอีซีในปี 2560 อยู่ที่ 9,890.2 นั่นแปลว่ามีการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
หนทางเอาตัวรอดเมื่อทีวีดิจิทัลอันตรายกว่าที่คิด
จากสถานการณ์ด้านธุรกิจทีวีที่แข่งขันกันสูงเกินไป ทำให้หลายช่องต้องยอมถอยในสงครามนี้ไปแบบเจ็บๆ ส่วนผู้ที่ยืนหยัดอยู่ก็ใช้หนทางเอาตัวรอดในขั้นแรกคือปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น และในขั้นต่อมาที่หลายช่องใช้เหมือนกันก็คือการย้ายแพลตฟอร์มการรับชมไปยังช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ การมีแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทำให้ช่องต่างๆลดภาระของตัวเองไปได้มาก และ ช่องทางออนไลน์นี่เองที่เป็นตัวชี้ชะตาของช่องต่างๆ รวมถึงยังเป็นอนาคตต่อไปของธุรกิจทีวีด้วย
เมื่อดูภาพรวมแล้วแพลตฟอร์มออนไลน์กำลังจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวใหม่ของกลุ่มธุรกิจทีวี งานนี้ใครถึงก่อนย่อมได้เปรียบ ‘ทีวีดิจิทัล’ ไม่ใช่น้ำผึ้งอาบยาพิษเสียแล้ว แต่เป็นยาพิษล้วนๆเลยนี่นา