“กระทิง” เรืองโรจน์ พูนผล “ต้นแบบ” Startupเมืองไทย ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ๆชื่อของเขาผู้นี้ไม่ได้อยู่ในแวดวง Startup ระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังดังไกลไปในแวดวงStartupระดับโลกอีกด้วย
สุดยอดผลผลิตบางทีก็มาจากความบังเอิญ
เรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง เด็กหนุ่มชาวกำแพงเพชร ที่วัยเด็กไปตกหลุมรักเข้ากับวิชาวิทยาศาสตร์อย่างไม่ตั้งใจ ทั้งๆที่แต่แรกเริ่มก็ไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่งอะไร ไปพบรักกับวิทยาศาสตร์ก็ด้วยความบังเอิญคุณครูได้อธิบายความเป็นเหตุเป็นผลเรื่องแรงตึงผิวของน้ำผ่านการสังเกตแมงมุมน้ำและแม่เหล็กโลก เพียงแค่นั้นก็เป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดความฝันเล็กๆ ในตัวของกระทิงทันที จะเรียกว่า เป็น “ก้าวแรกของการค้นพบตัวเอง” ก็ว่าได้ เมื่อความคิดเปลี่ยนชีวิตก็เปลี่ยน กระทิงกลายเป็นคนที่สนใจเรียนมากขึ้น และชอบในเรื่องของวิทยาศาสตร์เป็นชีวิตจิตใจ เขามุ่งมั่นฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเอง จนเริ่มมีความรู้มากขึ้นและก้าวออกไปลงแข่งขันฟิสิกส์และคณิตศาสตร์โอลิมปิก และก็คว้าเหรียญทองและเหรียญทองแดงมาได้ และนั่นทำให้เขาผลักดันตัวเองจากนักเรียนคนหนึ่งไปสู่ความมุ่งมาดปรารถนาใหม่ที่จะเข้าไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของประเทศให้ได้ และในที่สุดเขาก็ทำได้จริงๆสอบเข้าจุฬาฯในคณะวิศวะไฟฟ้าได้อย่างที่ตั้งใจ ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเขาก็มุ่งมั่นศึกษาอย่างไม่ย่อท้อ จนความสำเร็จอีกหนึ่งขั้นก็เป็นของเขาอีกจนได้ นั่นคือ การคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาฯมาครอบครองได้
เรียนรู้ที่จะค้นหาเป้าหมาย
หลังจบปริญญาตรี กระทิงเริ่มต้นชีวิตวัยทำงานที่พีแอนด์จี (Producter & Gamble : P&G)ประเทศไทยในสายงานโลจิสติกส์และแวร์เฮาส์ ที่นี่ทำให้กระทิงได้เรียนรู้โลกธุรกิจอย่างเต็มที่ แม้จะมีความผิดพลาดในงานใหญ่อยู่บ้าง แต่ P&G ก็ยังให้โอกาสกับกระทิงได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและการมอบโอกาสอีกครั้งให้แก้ไข จึงทำให้กระทิงค่อยๆเรียนรู้จากความผิดพลาดจนบริหารจัดการทุกอย่างได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น กระทิงได้เข้าไปทำงานในฝ่ายต่างๆ P&G 6 ปีกับที่นี่ เขาได้เรียนรู้งานถึง 6 แผนก ทำให้กระทิงได้เห็นถึง Value Chain ของสินค้าแต่ละอย่าง ความคิดเริ่มเป็นระบบและคิดอย่างมีกลยุทธ์ เริ่มรู้จักให้ความสำคัญกับการลงมือปฏิบัติ(Execution) นอกจากนั้นยังทำให้เขารู้จักการตั้งเป้าหมายในชีวิตและการทำงาน ซึ่งกระทิงมองว่า “เป้าหมายควรใหญ่กว่าความสามารถปัจจุบันที่จะทำได้ เราถึงจะเก่งขึ้น” และนี่คือหลักการของStartup
เปิดโลกทัศน์ของตนเอง
แม้ว่าหน้าที่การงานของกระทิงจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่สวนทางกลับความรู้สึกภายในที่เริ่มรู้สึกว่าความท้าทายได้หดหายไปจากเดิม กระทิงได้อ่านหนังสือชีวประวัติสตีฟ จ็อบส์อันโด่งดังเล่มนั้น จากการอ่านที่ใครก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร แต่กับชายผู้นี้ถ้อยคำต่างๆ บนหนังสือเล่มนั้น ได้จุดประกายความคิดและแสงสว่างในใจของเขา เขาจึงเริ่มทบทวนอนาคตตัวเองและไม่นานเขาก็ตัดสินใจ “เขาจะไม่ขายแชมพูไปตลอดชีวิตแน่ๆ” ความคิดของกระทิงเริ่มเปลี่ยนแต่ก็เริ่มชัดเจนขึ้น เขาเริ่มมองไปรอบตัวและก็คิดขึ้นได้ว่าเทคโนโลยีมีผลต่อโลกและจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก และเขาเองก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเปลี่ยนแปลงโลก ดังนั้น ถ้าต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอนาคต เขาก็ต้องเข้าไปที่จุดศูนย์กลางของเทคโนโลยีที่จะมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบนโลก นั่น คือ ซิลิคอน แวลลีย์ แต่ใช่ว่าใครจะเข้าไปถึงจุดนั้นได้ง่ายๆ ก้าวแรกที่จำทำให้เขาเข้าไปสู่ที่นั่นได้ เขาจะต้องเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก่อน แต่เมื่อขึ้นชื่อว่ามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็แปลว่าไม่มีคำว่า “ง่าย” เพราะมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิด Tech Startup ชั้นนำของโลก ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก อย่าง Google, yahoo, YouTube ล้วนเรียนจบจากที่นี่ กระทิงจึงตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนเรื่องของภาษาอังกฤษตั้งแต่บัดนั้นและก็เก็บเงินบางส่วนเพื่อใช้เป็นทุนเรียนไปด้วย ในที่สุดแล้วเขาก็สามารถสอบติดและเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสาขา MBA จนได้ การเข้าเรียนที่สแตนฟอร์ด 2 ปี นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับกระทิงอย่างแท้จริง เขาได้เรียนรู้วิธีคิดแบบผู้ประกอบการ ได้แรงบันดาลใจใหม่ที่ทำให้รู้จักคำว่า Startup ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อยู่รอบตัวเขา คนหนึ่งก็คือ แซม โกลด์แมน(Sam Goldman) เพื่อนร่วมบ้านของกระทิง ซึ่งกระทิงกล่าวว่า เขาคือพี่ชายและครูคนแรกในโลก Startup สำหรับเขาเลย เพราะแซม โกลด์แมนเป็นผู้สร้าง d.light นวัตกรรมหลอดไฟที่ดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ในตอนกลางวันเพื่อให้แสงสว่างตอนกลางคืนโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แซม โกลด์แมน ตั้งเป้าหมายให้นวัตกรรมหลอดไฟดังกล่าว ช่วยมอบอนาคตแสงสว่างให้กับคนอย่างน้อย 100 ล้านคนทั่วโลกที่เข้าไม่ถึงไฟฟ้า เช่นในอินเดีย แอฟริกา และผลงานนี้สามารถระดมทุนได้ 1,300 ล้านบาท และกลายเป็น 1 ใน 30 ผู้ทรงอิทธิพลของโลกโดยนิตยสารฟอร์บส์ อีกคนหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ แอนดี้ ดันน์(Andy Dunn) เพื่อนร่วมชั้นของกระทิง เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Bonobos แฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชายที่ขายทางออนไลน์ สามารถระดมเงินทุนได้ทะลุพันล้านเหรียญสหรัฐภายในเวลา 2 ปีและติดอันดับ Top 10แบรนด์ที่ดีที่สุดของสหรัฐอเมริกา
“โลกของ Startupไม่ว่าจะปลาเล็กหรือปลาใหญ่ ล้วนแพ้ปลาไว Startup ต้องมี จิตวิญญาณของตุ๊กตาล้มลุกบวกกับจิตวิญญาณของการเล่น คือ เมื่อล้มแล้วลุกขึ้นมาให้เร็วและแรงขึ้น เมื่อลุกขึ้นมาแล้วยังต้องสนุกกับการเล่นต่อไป”
เรืองโรจน์ พูนผล
เดินเข้าหาความฝัน ไม่รอวันที่ฝันจะลอยมา
หลังจากกระทิงเรียนจบที่สแตนฟอร์ด เป้าหมายต่อไปของเขาก็คือ การได้เข้าทำงานกับ Google เขามุ่งหน้าไปยังซิลิคอน แวลลีย์เพื่อสอบสัมภาษณ์ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เขาต้องใช้เวลาเทียวไปเทียวมาอยู่ครึ่งปี สอบสัมภาษณ์ 8 รอบกว่าจะได้เข้าทำงานกับ Google และในที่สุดกระทิงก็ได้เข้าไปทำงานที่ Google ในตำแหน่ง Quantitative Marketing Manager ดูแลการตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและละตินอเมริกา จากนั้นได้รับตำแหน่ง Product Marketing Manager ของ Google Eart/Moon/Mars มีหน้าที่คิดโครงการดีๆแล้วขายเพื่อนร่วมงานว่าโครงการนั้นๆจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ถ้าเพื่อนร่วมงานสนุกด้วย โครงการนั้นก็จะเกิดขึ้น
บรรยากาศที่ช่วยส่งเสริมให้ Google เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมเลี่ยนโลกส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย “ใบอนุญาตให้ผิดพลาดได้ไม่จำกัด” เพื่อเปิดพื้นที่ให้พนักงานสนุกสนานกับการลองผิดลองถูก โดยอนุญาตให้พนักงานใช้เวลา 10 % ของเวลาทำงานไปทดลองทำสิ่งประดิษฐ์อะไรก็ได้ได้อย่างเสรี ปรากฏว่าสิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นถูกนำไปพัฒนาเป็นผลงานต้นแบบ เพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ
เก็บเกี่ยวประสบการณ์นำมาก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
2 ปี ใน Google กระทิงเริ่มรู้สึกอิ่มตัว เขาจึงเริ่มเดินตามฝันต่อไปอีกครั้ง เขาลาออกจาก Google แล้วเนิ่มคุยกับ Angel Investor (นักลงทุนอิสระที่ใช้เงินตัวเองลงทุนในธุรกิจต่างๆ)จนสามารถระดมทุนได้ถึง 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อก่อตั้งบริษัท Mobilitz และเปิดตัว Heaven’s Dinners ซึ่งเป็นApplication แนว Location – based Social Game และได้รับ รางวัล Top 10 Most Innovative iPhone App ในปี 2010 ซึ่งปีนั้น Instagram และ Twitters ครองอันดับ 1 และอันดับ 2
ถึงเวลากลับบ้าน ย้อนกลับไปสู่การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จ
จากประสบการณ์ที่กระทิงได้ไปโลดแล่นอยู่ในซิลิคอน แวลลีย์อยู่ 7 ปี สิ่งหนึ่งที่กระทิงได้เรียนรู้มาก้คือ ไม่ว่าจะในสแตนฟอร์ด Google หรือในซิลิคอน แวลลีย์ก็ตามผู้คนเหล่านั้นต่างมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้สร้าง (Creator) และล้วนมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงโลก ทุกคนมีแนวคิดและถูกหล่อหลอมมาเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ ไม่ใช่ผู้บริโภค (Consumer) แต่เป็นผู้ผลิต (Producer) ดังนั้น อะไรที่ยังไม่มีก็จะสร้างขึ้นมาเองแทนที่จะรอให้คนอื่นมาสร้าง และทุกคนรู้สึกว่าตัวเองสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ถึงจะเป็นคนธรรมดา วันนี้กระทิง เรืองโรจน์ พูนผลได้เรียนรู้สิ่งต่างๆเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่สุดยอดที่ยากเกินฝันของใครบางคนกลับมาในประเทศไทย เขารู้เสมอว่าเขาคือเมล็ดพันธุ์หนึ่งที่เติบโตขึ้นในประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่เขาจะกลับมาบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ Startup ของเมืองไทย ให้สามารถเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดและเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศชาติ เรืองโรจน์ พูนผลจึงได้ก่อตั้ง Disrupt University สถานที่อันเป็นโรงเรียนบ่มเพาะ Startup ของคนไทย ที่พร้อมจะผลิต Startup ที่มีคุณภาพสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมวิถีชีวิตผู้คนจนถึงขั้นขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้น เรืองโรจน์ พูนผล ยังได้มีการร่วมจัดตั้ง 500 TukTuks ร่วมกับอเมริกาเพื่อการสนับสนุน Startup ของคนไทยอีกด้วย
summaryคุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้เกิด Startup ที่มีคุณภาพถึงขนาดเปลี่ยนแปลงสังคมและเปลี่ยนแปลงโลกได้นั้น จุดเริ่มต้นอยู่ที่การสร้างสภาพแวดล้อม บรรยากาศและบริบททางสังคมให้มีความเป็นผู้ประกอบการ หรือ นักสร้างสรรค์(Creative)ก่อน สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่คิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นที่จะสร้างแต่สิ่งที่เปลี่ยนโลกจะสร้างสร้างแรงบันดาลใจและหล่อหลอมความฝันให้ยิ่งใหญ่ขึ้น พร้อมกับความเชื่อมั่นว่าเราก็สามารถทำได้ทั้งหมดเหล่านี้จะ เป็นแรงผลักดันให้ประเทศเกิด Startup ที่มีคุณภาพเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ตามที่ต้องการ ดังนั้น ประเทศไทย ณ ขณะนี้เรายังไม่เข้าใกล้ Startup อย่างแท้จริง จนกว่าผู้คนในประเทศของเราจะผลักดันตัวเองให้เขาไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง |