การได้ก้าวเข้ามาสู่การเป็น Startup ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในขั้นหนึ่งของคนทำธุรกิจแล้ว แต่พอเมื่อได้เป็น Startup แล้ว ก็ต้องก้าวต่อไปเพื่อประสบความสำเร็จในขั้นสูงกว่านั้น นั่นคือ การได้เป็น ‘ยูนิคอร์น’ (Unicorn) หรือเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าถามว่าสตาร์ทอัพในไทยขณะนี้มีเจ้าไหนบ้างที่ลุ้นจะไกลถึงขั้นนั้น คนในวงการคงต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘โอมิเซะ’ (Omise)
Omise อนาคตใหม่ของสตาร์ทอัพไทย
ถ้ากล่าวถึง Omise ในวงการธุรกิจทั่วไปอาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่ถ้าเป็นคนในวงการ Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัลแล้ว เชื่อว่าน่าจะคุ้นๆกันอยู่ เพราะ Omise ชื่อแบรนด์สำเนียงญี่ปุ่นที่แปลว่าร้านค้านี้ เป็นธุรกิจแพลตฟอร์ม Payment Gateway รายใหญ่ของไทย นั่นคือ บริการชำระเงินด้วยบัตรเดบิต/เครดิต กระเป๋าเงิน E-Wallet รวมไปถึงบริการ Internet Banking ของไทยเราล้วนอิงอาศัยแพลตฟอร์มของ Omise นี้ทั้งหมด อันนี้ยังไม่รวมถึงบริการชำระเงินออนไลน์ของ 2 ค่ายมือถือใหญ่ และร้านค้าอีก 400 กว่าร้านค้าทั้งในไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่ใช้ระบบของบริษัทนี้ แค่แนวทางการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างนอกกรอบและสอดรับกับยุคสมัยก็ทำให้เส้นทางของ Omise เติบดตได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องสงสัยเลย นี่จึงเรียกว่าเป็นสตาร์ทอัพไทยที่มีอนาคตอย่างแน่นอน
รู้จักพลิกเกม ก็สามารถพลิกอนาคต
Omise เกิดขึ้นโดยคุณดอน (อิศราดร หะริณสุต) และ คุณจุน ฮาเซกาวา จากจุดเริ่มต้นแรกที่แค่คิดว่าต้องการทำธุรกิจสไตล์เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบขายของทั่วไป ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ได้แตกต่างอะไรกับนักธุรกิจทั่วไปเลย แต่ทว่าการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซไปได้สักระยะ ทั้งคู่เป็นปัญหาที่มาพร้อมกับความต้องการของผู้คน นั่นคือ เรื่องของระบบการชำระเงินออนไลน์ เช่น ผู้คนเริ่มมีสมาร์ทโฟนแต่กลับไม่สามารถใช้สมาร์ทโฟนในการชำระเงินออนไลน์ได้ ทั้งคุณดอน และ คุณจุน จึงเกิดไอเดียธุรกิจและมองหาช่องทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ จึงทำให้เกิดโปรเจคพัฒนาแพลตฟอร์มการรับชำระเงินออนไลน์ แต่คนทั้งคู่ยังขาดความรู้และประสบการณ์ด้านนี้ จึงเดินหน้าพูคุยเจรจาหาความรู้จากคนในวงการแวดวงการให้บริการชำระเงิน โดยทั้งสองคนได้ดูตัวอย่างจาก 2 เจ้าดังนั่นคือ VISA และ Master Card เรียนรู้มาตรฐานและระบบความปลอดภัย จนทำให้พบว่าแพลตฟอร์มนี้มันใหญ่กว่าที่คาดไว้ แต่ก็นั่นแหละความแตกต่างทำให้อีคอมเมิร์ซธรรมดากลายเป็นสตาร์ทอัพขึ้นมาได้เพียงในเวลาไม่นานนัก
เมื่อเงินดิจิทัลคืออนาคตใหม่แห่งธุรกิจ
ช่วงที่คุณดอน และ คุณจุน พยายามหาหนทางการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการรับชำระเงินออนไลน์อยู่นั้น ก็เป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับกระแส Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัล ค่อยๆก้าวเข้ามา คนทั้งคู่มองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ยาพิษ แต่คืออนาคตใหม่แห่งการเงิน จึงเริ่มเปิดใจเรียนรู้และพบว่า นี่แหละ ช่องทางและอนาคตของธุรกิจพวกเขาต้องเริ่มจากจุดนี้ คนทั้งคู่ใช้ช่องทางนี้ในการเปิดระดมทุนจากนักลงทุน VC (Venture Capital) ทั้งหมด 4 ครั้ง และการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) 1 ครั้ง โดยการระดมทุนเกิดขึ้นจากการสร้างเหรียญเงินดิจิทัลของตนเองขึ้นมาโดยเรียกว่า ‘OmiseGO’ หรือที่หลายคนรู้จักในนามเหรียญ OMG โดยออกเหรียญมาขายให้นักลงทุน ซึ่งเหรียญที่สร้างออกมานั้นมีจำนวน 140,245,398 เหรียญ การระดมทุนหรือ ICO ของ Omise ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม จึงต้องบอกว่าสตาร์ทอัพรายนี้เป็นรายเดียวของไทยที่ทำ ICO ผ่านเงินดิจิทัลแล้วประสบความสำเร็จที่สุด
ก้าวต่อไปสู่การเป็นยูนิคอร์นมูลค่าพันล้าน
การได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทำให้ Omise เตรียมจะก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพรายแรกของไทย ที่ก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น แต่คุณดอนกลับบอกว่า เป้าหมายของเขาไม่ใช่การเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น แต่คือการเป็น ‘ผู้ช่วย’ ของธนาคารต่างๆ การเข้าไปเป็นเน็ตเวิร์กกลางในการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัลเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการและพยายามจะทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ซึ่งนั่นจะช่วยให้ระบบการรับชำระเงินทั้งออนไลน์และออฟไลน์มีความหลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น และนั่นจะทำให้ไทยกลายเป็นสังคมไร้เงินสดได้จริง แบบไม่ได้เป็นแค่สโลแกน
ก็คงต้องจับตามองกันต่อไปสำหรับ Omise สตาร์ทอัพศักยภาพสูงที่มีอนาคตไกล ซึ่งเมื่อเรียนรู้จากเขาก็จะพบว่า Invovation หรือ นวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำธุรกิจยุคนี้ อะไรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้ลึกซึ้งมากขึ้นย่อมจะมีโอกาสและความสำเร็จที่ชัดเจน