ช่วงนี้ข่าวคราวของโรคซึมเศร้าค่อนข้างหนาหู ผ่านไปผ่านมาคนเริ่มบอกว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น จริงๆภาวะนี้น่าเป็นห่วงมาก แต่คนไม่ค่อยให้ความสนใจ อาจจะเป็นเพราะกรณีของร็อกเกอร์ชื่อดังอย่างเสก โลโซ ที่ออกมาเปิดเผยว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้จึงทำให้ คำๆนี้เกิดเข้ามาอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม และเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีข่าวการฆ่าตัวตายที่มีสาเหตุจากโรคซึมเศร้านี้ด้วยจึงอยากนำข่าวคราวของโรคนี้มาเล่าสู่กันฟัง
ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้ากันคร่าวๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองของผู้ป่วยมีความผิดปกติในแง่ของปริมาณและการทำงาน ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความรู้สึก ความคิด และการแสดงออที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป ในปัจจุบันโรคนี้สามารถควบคุมอาการและรักษาให้หายขาดได้
การรักษาโรคซึมเศร้าทำได้อย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปการรักษาโรคซึมเศร้าคือการรักษาด้วยการใช้ยา อันได้แก่ ยากลุ่มต้านอาการเศร้า (Antidepressants) ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายชนิดยาใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดอาการค้างเคียงลดลงและมีจำนวนผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยากลุ่มอื่นๆ ที่นำมาใช้ร่วมกันเพื่อการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยบางราย เช่น ยาคลายกังวล ยาควบคุมอารมณ์ หรือยากลุ่มต้านโรคจิต โดยแพทย์จะพิจารณาจากความเหมาะสมร่วมกับการตอบสนองต่อการรักษาที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆควบคู่ไปกับการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ การทำจิตบำบัด หรือการรักษาด้วยไฟฟ้า(Electroconvulsive therapy,ECT)เป็นต้น
เห็ดเมาก็สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้
ล่าสุดคณะแพทย์และนักวิจัยในสหราชอาณาจักรได้ค้นพบสารออกฤทธิ์หลอนประสาทในเห็ดเมาที่สามารถปรับสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรงชนิดที่ไม่มีทางรักษาให้อาการดีขึ้นได้ นับเป็นความหวังต่อการรักษาโรคทางจิตเวชนี้ในอนาคต โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพิเรียลคอลเลจกรุงลอนดอน ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีชื่อว่า Scientific Reports ระบุว่า คณะนักวิจัยได้ทำการวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 19 ราย โดยให้ยาซิโลซายบิน(Psilocybin) ซึ่งสกัดจากเห็ดเมาแก่ผู้ป่วยทุกคน และมีการตรวจติดตามการทำงานของสมองด้วยการสแกนภาพสมองของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับยา ผลปรากฎว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการทดลองกว่าร้อยละ 50 ไม่มีอาการซึมเศร้าเหลืออยู่หลังจากได้รับยาแล้ว และสมองบางส่วนมีการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยผู้ป่วยสามารถคงภาวะอาการที่ดีขึ้นนี้ไว้ได้นานกว่า 5 สัปดาห์
ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า ยาซิโลซายบินซึ่งสกัดจากเห็ดเมาสามารถทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากวงจรการเกิดอาการซึมเศร้าได้ โดยผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าวจะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่สมอง 2 ส่วน คือ อะมิกตะลา(Amygdala) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับความรู้สึกและอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกกลัวและวิตกกังวล กับส่วนเครือข่ายประสาทอัตโนมัติที่ทำงานเมื่อสมองพักผ่อน สมอทั้งสองส่วนนี้จะทำงานได้ราบรื่นมากขึ้นหลังจากไได้รับยาดังกล่าว
อย่างไรก็ตามนักวิจัยเตือนว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งที่มีอาการปานกลางและรุนแรงรวมทั้งบุคคลทั่วไปไม่ควรทดลองใช้เห็ดเมาด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีการทดลองเพิ่มเติมกับกลุ่มทดลองจำนวนมากขึ้น ก่อนที่จะแน่ใจได้ว่าสามารถนำไปใช้เป็นวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าที่ปลอดภัยในอนาคต