ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าจะขอตามรอยเบื้องพระยุคลบาททำสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคมและบ้านเมือง ดังที่พระองค์ท่านทรงกระทำมากับพสกนิกรชาวไทย

      นี่คือ 5 บทเพลงเพื่อพ่อที่ยิ่งใหญ่ที่เหล่าศิลปินชาวไทยได้กลั่นออกจากดวงใจเป็นคำร้องและท่วงทำนองที่งดงาม และบทเพลงเหล่านี้ในอีกไม่ช้าเราอาจจะไม่ได้ยินกันอีกแล้ว แต่เสียงเพลงแห่งความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทั้งหมดนี้ก็จะยังคงดังก้องอยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยตลอดไปอีกนานแสนนาน

     ผู้เขียนขอสารภาพว่าตอนค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลก็เพิ่งจะค้นพบว่า ศิลปินชาวไทยได้มีการประพันธ์เพลงเพื่อพ่อที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยไว้มากมายเหลือเกิน จริงๆแล้วที่พอจะได้ยินกันผ่านหูบ้างก็น่าจะมีถึง 20 บทเพลงกันเลยทีเดียว จึงเป็นความหนักใจของผู้เขียนไม่น้อยที่จะต้องคัดเลือกมาเพียง 5 บทเพลงเท่านั้น หวังว่าทั้งผู้ประพันธ์และศิลปินคงจะให้อภัยกับผู้เขียนด้วยในเรื่องนี้

1.เพลง “ผู้ปิดทองหลังพระ”

     บทเพลงนี้ยืนยง โอภากุล หรือ พี่แอ๊ด คาราบาวได้รับมอบหมายจากสำนักพระราชวังให้แต่งเพลงเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 โดยวัตถุประสงค์ของเพลงนี้เพื่อต้องการให้คนไทยได้รู้จักและจดจำพระนามเต็มของพระองค์ท่าน จะได้กล่าวถึงพระนามของพระองค์ท่านได้อย่างเต็มภาคภูมิ พี่แอ๊ด คาราบาวจึงบรรจงประพันธ์คำร้องและทำนองบทเพลงที่มีชื่อว่า “ผู้ปิดทองหลังพระ” นี้ออกมา ซึ่งสิ่งที่พี่แอ๊ด ภาคภูมิใจยิ่งกว่าการได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในงานชิ้นนี้ก็คือ การได้รับความชมที่พระองค์ท่านได้ตรัสชมผ่าน ดร.ดิสธร วัชโรทัย รองเลขาพระราชวัง(ณ ขณะนั้น)ว่า “แอ๊ด คาราบาว เก่งมากที่นำชื่อเรามาใส่ในเนื้อเพลงได้”

2.เพลง “ต้นไม้ของพ่อ”

     แผ่นดินไทยผืนนี้เปรียบไปก็เสมือนต้นไม้ใหญ่ พ่อหลวงของเราทรงห่วงใยบำรุงรักษาต้นไม้ต้นนี้ด้วยน้ำจากพระหฤทัยและกำลังพระวรกาย จากต้นกล้าเล็กๆเติบใหญ่กลายเป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา เป็นแหล่งอาหาร ปกป้องภัยพาลให้กับปวงชนชาวไทยมาตลอดระยะเวลา 50 ปี ประชาชนชาวไทยซึ่งคือลูกๆของพระองค์ท่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านดูแลแผ่นดินนี้อย่างเหนื่อยยาก ลูกๆของพระองค์จึงพร้อมใจตั้งปณิธานว่าจะดูแลต้นไม้ของพ่อต้นนี้ให้ยิ่งใหญ่และยังคงเติบโตร่มเย็นสืบไปนานเท่านาน

     นั่นคือความหมายของบทเพลง “ต้นไม้ของพ่อ” อีกหนึ่งบทเพลงที่คุ้นหูคนไทยกันเป็นอย่างดี และร้องกันได้ทั้งเด็กตัวน้อยไปจนถึงผู้ใหญ่ ผลิตและจัดทำโดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 แต่งคำร้องโดย นิติพงษ์ ห่อนาค ทำนอง-เรียบเรียงโดย อภิไชย เย็นพูนสุข และขับร้องโดยนักร้องอันดับหนึ่งของเมืองไทย เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์

3.เพลง “ของขวัญจากก้อนดิน”

“….ในวันเกิดของคนที่เรารักมากๆ คนหนึ่ง เราก็พยายามนึกเดาว่า ใครคนนั้นอยากได้อะไรมากที่สุด แล้ววันเฉลิมพระชนมพรรษาขององค์พระบิดาของชาวไทยทั้งปวงล่ะ พระองค์ท่านจะทรงโปรดสิ่งใดมากที่สุด

          ผมบังอาจเดาด้วยตัวเองจากแรงบันดาลใจที่จะเขียนเพลง ผมเดาว่า…ของขวัญนั้น คงไม่ใช่แสงจากเทียนนับล้านเล่ม เพลงสดุดีมหาราชา ในเวลาสิบเก้านาฬิกาสิบเก้านาทีเท่านั้น ผมเดาว่า…พระองค์ท่านจะทรงโปรดให้ชาวไทยมีความสมัครสมานสามัคคีกันมากที่สุด เพื่อที่จักได้ใช้ความฉลาดเฉลียวที่คนไทยไม่แพ้ใครในโลก มาร่วมกันแก้ปัญหาของพี่น้องชาวไทย ทุกหมู่ทุกเหล่าให้หมดสิ้นไป ผมเดาว่า…สิ่งที่พระองค์ไม่ทรงปรารถนาเลย คือต้องทรงออกมาประทับอยู่ตรงกลางความขัดแย้ง เพื่อยุติเรื่องเหล่านั้น เหมือนในเดือนตุลาคม หรือพฤษภาคมของบางปีที่ผ่านมา

          ทั้งหมดเวียนอยู่ในหัวผม แล้วก็กลายเป็นแรงบันดาลใจว่า จะเขียนเพลงนี้ขึ้นมา….”

     นี่คือความในใจของ นิติพงษ์ ห่อนาค ผู้ประพันธ์บทเพลงนี้ที่คัดมาจากหนังสือ “เติมคำในทำนอง”  เรียบเรียงเสียงประสานโดย สราวุธ เลิศปัญญานุช จัดทำโดย บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนธันวาคม 2542 และขับร้องโดย  เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์

4.เพลง “อยู่อย่างพอเพียง”

     บทเพลงที่กระตุ้นให้ผู้คนให้ความสำคัญในเรื่องของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมายึดเป็นหลักการดำรงชีวิต ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้นับว่าเป็นปรัชญาการดำรงชีวิตที่พระองค์ท่านทรงตกผลึกทางความคิดจากการที่ทรงงานมาอย่างยาวนาน จนก่อเกิดเป็น หลักคิด หลักปฏิบัติ และหลักการดำรงชีวิตให้กับปวงชนชาวไทย

     เพลงนี้ประพันธ์คำร้องโดย สุรักษ์ สุขเสวี ทำนองโดย โสฬส ปุณกะบุตร ขับร้องโดย สำราญ ช่วยจำแนกหรืออี๊ด วงฟลาย

5.เพลง “พ่อ”

     พระองค์ท่านคือพ่อผู้ยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงเรียบง่าย เข้าถึงได้ไม่ยากเย็น ไม่ใช่เทพเทวาไม่ใช่ฟ้าที่เอื้อมไม่ถึง แต่พระองค์ทรงเป็นพ่อที่เดินมากับลูกๆบนแผ่นผืนนี้ทุกก้าวย่างพ่อทิ้งรอยเท้าไว้ให้ลูกเดินตามได้เสมอ

     นี่คือความหมายของบทเพลงนี้ เพลง “พ่อ” เพลงประกอบละครเทิดพระเกียรติที่เคยฉายมานานแล้วเรื่องหนึ่ง บทเพลงนี้ประพันธ์คำร้องและทำนองโดย ประภาส ชลศรานนท์ และขับร้องโดยนักร้องคุณภาพอย่าง ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว