HIGHLIGHTS:
|
เด็กชายคนหนึ่งในประเทศอินเดีย เขาต้องพลัดพรากจากครอบครัวโดยไม่ตั้งใจไปถึง 25 ปี เขาเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นท่ามกลางผู้คนที่ไม่ใช่ครอบครัวและญาติพี่น้องของเขา แต่คุณเชื่อไหม เทคโนโลยีอย่าง Google Earth กลับกลายเป็นเครื่องมือตามหาครอบครัวที่พลัดพรากกันมานาน 25 ปีให้กับเขาได้
การตามหาครอบครัวบนโลกใบใหญ่ด้วย Google Earth
ซารูเด็กชายวัย 5 ขวบ พลัดหลงกับพี่ชายในคืนวันหนึ่ง คืนนั้นเขานั่งรถไฟมากับพี่ชาย เมื่อลงจากรถไฟเด็กน้อยเหนื่อยมาก เขาผล็อยหลับไปขณะที่พี่ชายออกไปหาของกิน เมื่อตื่นขึ้นมาเขาหาพี่ชายไม่พบ ด้วยความตกใจเด็กน้อยกระโดดขึ้นรถไฟที่จอดอยู่ข้างหน้าแล้วหลับต่อ มารู้ตัวอีกทีเขาก็ถึงปลายทางคือ เมืองกัลกัตตา
ซารูกลายเป็นเด็กเร่ร่อนแถวสถานีรถไฟ คุ้ยหาอาหารตามถังขยะและพื้นดิน จนมีคนมาพบและส่งเขาไปที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า มีการลงประกาศหาพ่อแม่ของเขาตามหน้าหนังสือพิมพ์แต่ไร้ผล โชคดีที่มีคนรับเขาเป็นบุตรบุญธรรมที่ออสเตรเลีย นับแต่นั้นชีวิตเขาก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม เขาคิดถึงบ้านเกิดอยู่เสมอ แต่เขาจำอะไรแทบไม่ได้เลย รวมทั้งชื่อพ่อแม่และนามสกุลดั้งเดิมของตัว จำได้แต่สถานีรถไฟใกล้บ้านเกิดว่ามีหอเก็บน้ำ สะพานและแม่น้ำอยู่แถวนั้น การหาบ้านเกิดจึงแทบไม่ต่างจากการหาเข็มในกองฟาง โชคดีที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากมี Google Earth เกิดขึ้น เขาอาศัยโปรแกรมนี้ตามหาบ้านเกิดทางคอมพิวเตอร์ โดยเริ่มต้นที่สถานีกัลกัตตาแล้วไล่ตามเส้นทางรถไฟย้อนขึ้นไป เขาหมกมุ่นอยู่กับภาพถ่ายดาวเทียมภาพแล้วภาพเล่านานหลายปี จนในที่สุดก็ค้นพบสถานีหนึ่งซึ่งคล้ายภาพในความทรงจำของเขา
แล้วเขาก็เดินทางไปกัลกัตตา นั่งรถไฟไปลงที่สถานีดังกล่าว แม้พูดภาษาฮินดีไม่ได้เลย แต่เมื่อยื่นภาพถ่ายวัย 5 ขวบของเขาจากพาสปอร์ตเมื่อ 25 ปีก่อน คนแถวนั้นก็จำได้และพาเขาไปพบแม่ ทั้งสองคนตื่นเต้นดีใจมาก กอดกันตัวกลม รู้สึกเหมือนฝันเพราะไม่เคยคิดว่าจะมีวันนี้ได้
เรื่องราวของซารูถูกนำมาบรรจงร้อยเรียงกลายเป็นหนังสือที่ชื่อ A Long Way Home ซึ่งผู้เขียนก็คือซารู(Saroo Brierley)นั่นเอง และต่อมาก็ได้กลายมาเป็นภาพยนตร์ Hollywood เรื่อง “Lion” ที่เคยเข้าชิงออสการ์ 6 สาขามาแล้วนั่นเอง
เทคโนโลยียุคใหม่ทำให้การตามหาบ้านเกิด พ่อแม่ลูกหลาน หรือเพื่อนที่พลัดพรากจากกันหลายสิบปี กลายเป็นสิ่งที่ง่ายดาย บางคนแค่ประกาศหาทาง Facebook ไม่กี่วันก็ประสบความสำเร็จ อย่างกรณีหนุ่มชาวอังกฤษที่ตามหาสามีภรรยาชาวไทยที่เคยช่วยเขาในเหตุการณ์สึนามิโดยไม่ต้องเดินทางมาที่ภูเก็ตด้วยตนเอง
เทคโนโลยีค้นหาสิ่งที่เราอยากรู้ได้ทุกอย่างยกเว้น แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของเรา
ออรังเซ็บ กษัตริย์อินเดียราชวงศ์โมกุลซึ่งยึดอำนาจจากบิดาคือชาห์ชะฮาน ผู้สร้างทัชมาฮาล ตลอดทั้งชีวิตทำสงครามขยายอาณาจักรจนดินแดนแผ่ไพศาล ครอบครองประชากรเกือบ 1 ใน 4 ของโลกและได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่เมื่อใกล้ตายเขารำพึงด้วยความรันทดว่า
“ฉันมา แล้วก็ไปอย่างคนแปลกหน้า ฉันไม่รู้ว่าฉันเป็นใคร และกำลังทำอะไรอยู่”
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส
มาร์กอส ซึ่งเคยเป็นประธานาธิบดีที่เรืองอำนาจของฟิลิปปินส์ เคยบันทึกด้วยความรู้สึกที่คล้ายๆกันว่า “ผมมีอำนาจมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ผมมีทุกอย่างที่เคยใฝ่ฝัน พูดให้ถูกต้องคือ ผมมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างเท่าที่ชีวิตต้องการ มีภรรยาซึ่งเป็นที่รักและมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผมทำ มีลูกๆที่ฉลาดหลักแหลม และสืบทอดวงศ์ตระกูล มีชีวิตที่สุขสบาย ผมมีทุกอย่าง แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต”
แม้ในยามที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด คนจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไรอย่างแท้จริงที่แน่ๆ ก็คือ อำนาจและทรัพย์สมบัติที่มีมากมายนั้น หาใช่สิ่งที่ตนเองกำลังแสวงหาไม่ ถ้าเช่นนั้นมันคืออะไร ? หลายคนตายแล้วก็ยังไม่พบ จึงใช้ชีวิตในทุกลมหายใจที่ส่วนใหญ่หมดไปกับความทุกข์
จะตามหาใครหรืออะไรก็แล้วแต่ อย่าลืมตามหาตนเองให้พบด้วย มันไม่ช่วยให้อิ่มท้องหรือหายหิวก็จริง แต่ก็ทำให้ชีวิตนี้มีความหมายและอยู่อย่างอิ่มเอมเต็มเปี่ยมสมความเป็นมนุษย์ได้ และนี่แหละคือแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของจริงที่จะนำพาชีวิตของเราให้ก้าวเดินต่อไปอย่างมีความหมาย
อ้างอิงจาก: blog.google, vanityfair.com