ในขณะนี้ตลาดการแข่งขันเรื่องอีเพย์เมนต์ถือว่าระอุมากขึ้นเรื่อย ๆมีทั้งผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ไทย-เทศกระโดดเข้าร่วมวงชิงมาร์เก็ตแชร์ แต่เมื่อกวาดสายตามองไปที่กลุ่ม nonbank น้องใหม่ที่อยู่ในตลาดมาพักใหญ่ แต่เริ่มมาแรงโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆหนีไม่พ้น “Rabbit LINE Pay” ที่มียักษ์ใหญ่ร่วมลงขันแล้วหลายราย ทั้ง BTS AIS LINE ที่สำคัญคือปักธงจะก้าวเป็นเบอร์ 1 ในตลาดให้ได้
จิน วู ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ จำกัด ได้เปิดเผยถึงแผนและกลยุทธ์ที่จะใช้ก้าวต่อไปในเทรนด์ตลาดโลกว่า ภาพรวมปีที่ผ่านมา ผู้ใช้ Rabbit LINE Pay (RLP) มี 5 ล้านคน แม้จะเติบโต 300% จากปี 2017 แต่เราตั้งเป้าที่จะโตให้ได้ 1,000% อายุของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราในขณะนี้อายุเฉลี่ย 20-30 ปี และใช้งานหลักคือซื้ออาหาร, เติมเงินโทรศัพท์, จ่ายบิล, เติมเงินและเที่ยว BTS อาจจะระบุเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะว่าแต่ละไตรมาสปรับเปลี่ยนตลอด
ในส่วนของการเดินเกมธุรกิจในปีนี้ จะยังคงเป็นช่วงลงทุนไปก่อนคงไม่ได้เพิ่มงบฯลงทุน โดยปีนี้จะไม่เน้นที่การทำโฆษณามากนัก เพราะสื่อในไทยมีราคาค่อนข้างแพง แต่อาจจะเน้นแค่ทำให้เห็นถึงข้อดีของการใช้แรบบิท ไลน์ เพย์ รวมทั้งการผูกบัตรแรบบิทเข้ากับแอปด้วย ดังนั้น งบฯหลัก ๆ จะเน้นที่โปรโมชั่นต่างๆ รวมทั้งเพิ่มจำนวนร้านค้าที่รับชำระเงิน จากปัจจุบันมี 50,000 แห่ง เป็น 60,000 ร้านในสิ้นปี โดยจะเน้นร้านค้าที่ใช้งานได้ทุกวัน เช่น ร้านค้าปลีก, ร้านสะดวกซื้อ, ฟู้ดคอร์ต ภายใน มิ.ย. เน้นพื้นที่ใกล้เคียงรถไฟฟ้า เพราะโลเกชั่นสำคัญมาก พยายามจะไม่ให้กระจายตัว อยากให้กระจุกตัวเพื่อให้เกิดการใช้และช่วยสร้างการรับรู้ของผู้ใช้ ส่วนด้านการเดินทางนอกจากรถไฟฟ้า BTS แล้ว จะเพิ่มฟีเจอร์ให้จ่ายเงินกับไลน์แท็กซี่ได้ภายใน มี.ค. นี้
สิ่งที่ดูว่าจะเป็นจุดแข็งของแรบบิท ไลน์ เพย์ ก็คงจะเป็นเรื่องของความสะดวกซัพพอร์ตทุกอย่างให้ร้านค้า ทำให้ผู้ใช้แรบบิท ไลน์ เพย์ สามารถผูกบัตรเครดิต เดบิต หรือบัญชีธนาคาร เมื่อชำระเงินก็สามารถตัดเงินที่บัตรเครดิตได้เลย เพื่อให้ใช้งานง่ายที่สุด
Rabbit LINE Pay ตั้งเป้าที่จะเป็นเบอร์ 1 ของตลาดใน 3 ปี แต่ความท้าทายหลักๆคือ การรักษาระดับการเติบโต เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยอมรับว่ายังมีคนที่กังวลเรื่องความปลอดภัย ยังไม่กล้าที่จะลอง แต่เท่าที่ทางบริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ จำกัดดำเนินงานมากก้ยังไม่พบปัญหาว่าจะมีการแฮกหรือปัญหาใดๆเกิดขึ้น ในส่วนของรายได้ดูเหมือนว่าทาง Rabbit LINE Pay จะยังไม่โฟกัสใดๆเพราะต้องยอมรับว่าตลาดผู้บริโภคตอนนี้เปลี่ยนแปลงไวมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยมากมายที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แต่นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่เริ่มเห็นชัดว่าทิศทางของการใช้จ่ายในสังคมโลกจะหันเหไปในทิศทางใด “สังคมไร้เงินสด” ในไทยอาจจะยังไม่เกิดขึ้นชัดเจนตอนนี้ แต่ Rabbit LINE Pay ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เริ่มทำให้เราเห็นทิศทางแล้วว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นจริงได้ในเมืองไทย