มี SME ไม่น้อยที่ประสบปัญหาเรื่องของกระแสเงินสดหมุนเวียน ทั้งๆที่การทำธุรกิจก็ไปได้ด้วยดี มียอดขายที่เดินหน้าอยู่เรื่อยๆ แต่ทว่าไม่ว่าจะขายได้ยังไงเงินหมุนก็ไม่พอ เกิดอะไรขึ้นกับการทำธุรกิจของคุณหรือเปล่า ?

คุณบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนอย่างไร

ปัญหาเรื่องกระแสเงินสดหมุนเวียนที่ร้านหรือที่บริษัทไม่พอนั้น หลักใหญ่ใจความมักเกิดขึ้นเพราะ การบริหารจัดการกระแสเงินสดของธุรกิจคุณ สิ่งที่ทุกคนเข้าใจกันดีก็คือ เมื่อคิดจะทำธุรกิจ ต้องลงทุน ต้องซื้อวัตถุดิบต้องลงทุนกับอุปกรณ์เครื่องใช้ ทุกอย่างและทุกขั้นตอนในการเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นล้วนมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินเป็นทอง มีต้นทุนในทุกอย่าง เมื่อลงทุนแล้วก็ต้องขายสินค้าให้ได้ ก็ต้องใช้การบริหารจัดการสินค้าที่ดี เมื่อขายสินค้าได้จึงได้เงินกลับมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน หักลบกลบหนี้ต้นทุนที่ลงไป วงจรก็จะวนซ้ำๆกันแบบนี้

แต่ว่าถ้าเงินทุนหมุนเวียนที่เข้ามากลับไม่เพียงพอต่อการลงทุนทำธุรกิจต่อไป SME ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไป “กู้สินเชื่อ” จากธนาคารมาจัดการเงินทุนที่ต้องใช้หมุนในการทำธุรกิจ นำไปซื้อสินค้าล็อตใหม่หรือลงทุนในด้านอื่นๆที่จำเป็น และปัญหาที่ SME ส่วนใหญ่ต้องเจอก็มาอยู่ตรงนี้ คือ กู้สินเชื่อธนาคารมาแล้วไม่สามารถที่จะชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยตามมาด้วยได้ เพราะรายรับที่ได้มาพอหักลบไปแล้วก็อาจจะไม่พอจ่ายหนี้สินเชื่อธนาคารหรือถ้าพอก็อาจจะแค่จ่ายคืนธนาคารแต่ไม่เหลือเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละเดือนอีก ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายต้องพิจารณาบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนในส่วนนี้ให้ดี ไม่จำเป็นอย่ากู้สินเชื่อจะดีกว่า เพราะจะยิ่งมีภาระหนักมาก ในช่วงแรกอาจจะดี แต่ถ้าระยะยาวคุณบริหารจัดการไม่ได้จะยิ่งกลายเป็นภาระหนักทางธุรกิจ

ทำธุรกิจต้องรู้จักใช้เครดิต

เทคนิคหนึ่งที่ SME ที่ประสบความสำเร็จแล้วมักใช้กันในการจัดการเรื่องเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจให้เพียงพออยู่เสมอก็คือ ใช้วิธีการบริหารจัดการเรื่องระยะเวลาการชำระค่าวัตถุดิบหรือต้นทุนต่างๆ ด้วยเครดิตที่ตนมี ถ้าเป็น SME รายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจก็อาจจะยังไม่มีเครดิตอะไร วิธีนี้จึงอาจจะเหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจมาสักพักใหญ่ๆแล้ว จนคู่ค้าไว้วางใจให้เครดิต สำหรับ “เครดิต” ที่ว่านี้ก็คือ การซื้อวัตถุดิบด้วยเงินเชื่อ ขายได้แล้วค่อยไปจ่าย วิธีการนี้จะช่วยให้วงจรเงินทุนไหลออกจากบริษัทช้าลงทำให้เรามีเวลาจัดการได้อีกหลายเรื่อง ซึ่งมากพอที่จะทำให้เราขายได้และมีเงินพอที่จะนำไปจ่ายค่าวัตถุดิบ ถ้าจ่ายเป็นเงินสดเลย เงินจะไหลออกจากบริษัททันทีทำให้ส่วนใหญ่บริหารเรื่องเงินทุนหมุนเวียนไม่ทันนั่นเอง

จัดเก็บเงินต้อง ‘สด’ เสมอ

ในวงการ SME มักจะมีคำพูดหนึ่งเสมอ คือ “ซื้อเชื่อ จ่ายสด” นี่เป็นวิธีการที่จะช่วยให้คุณจัดการเงินทุนหมุนเวียนของคุณได้อยู่หมัดจริงๆ โดยไม่ต้องไปกู้ วิธีการบริหารจัดการเรื่องระยะเวลาการจัดเก็บเงินจากการขายจึงเป็นอีกหนึ่งเทคนิคสำคัญที่ต้องใส่ใจ คือ เวลาคุณขายสินค้าเป็นไปได้ให้ลูค้าชำระเงินสด ไม่ใช่เงินเชื่อ เพราะถ้าคุณให้ลูกค้าจ่ายเงินสดเลย คุณจะมีเงินหมุนในระบบทันที แต่ถ้าเป็นเงินเชื่อ คุณจะต้องรอเวลาที่จะได้เงินไปอีกสักพักทำให้กระแสเงินสดขาดมือได้ จึงก่อให้เกิดปัญหาขายได้แต่ไม่มีเงินหมุนนั่นเอง

อย่าสต็อกของไว้มากและนานเกินไป

การบริหารจัดการเรื่องสต็อกสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในระบบไม่เพียงพอได้ ถ้าคุณสต็อกของไว้มากและนาน และยังไม่สามารถจะขายได้ในทันที ทุนจะจม ระยะเวลาที่จะนำสินค้าไปเปลี่ยนเป็นเงินสดนั้นก็ต้องถูกยืดออกไปอีกนาน นี่จึงทำให้เกิดเงินหมุนไม่พอ ดังนั้น เป็นไปได้สต็อกของแต่พอดี และรีบหาทางระบายสินค้าให้ไวก็จะช่วยให้คุณมีเงินทุนหมุนเวียนในระบบได้ไวมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ผู้ประกอบการ SME ทั้งหลายจงลองพิจารณาดูนะว่า คุณมีปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่ ถ้ามีก็รีบแก้ไขปรับเปลี่ยนแล้วธุรกิจคุณจะเดินหน้าต่อไปได้