เมื่อโลกกำลังจับจ้องบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน อย่าง Alibaba และ Tencent ที่เข้ามาใช้เทคโนโลยีสร้างกระแสและเปลี่ยนเทรนด์นวัตกรรมการเงินของคนจีนเสียใหม่ จนกลายเป็น “สังคมไร้เงินสด” อาจเรียกว่าเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเงินของจีนไปเลยก็ว่าได้ ทำให้โลกรู้สึกว่านี่คือ “อนาคต” ของอุตสาหกรรมการเงิน ทั่วโลกกำลังพยายามเปลี่ยนประเทสตนเองให้ก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเช่นกันไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพื่อเตรียมรับมืออนาคต แต่ทว่า “ญี่ปุ่น” กลับเป็นประเทศที่คิดต่างไป พวกเขาก้าวสู่สังคมไร้เงินสดไม่ใช่เพราะ “อนาคต” แต่เป็นเพราะ “ปัจจุบัน”
สังคมไร้เงินสด VS สังคมผู้สูงอายุ
ในขณะที่เทรนด์ “สังคมไร้เงินสด” ของโลกกำลังคืบคลานเข้ามาในวิถีชีวิตของผู้คนที่โหยหาอนาคตที่สดใสและง่ายดาย หากมองย้อนกลับไปอีกนิดก็จะพบว่าเทรนด์ “สังคมผู้สูงอายุ” ได้เดินมาถึงเส้นชัยก่อนหน้าแล้วสักพักใหญ่ เป็นปัญหาที่โลกจับจ้องมาก่อนแล้ว และหลายประเทศก็ประกาศว่าประเทศของตนเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” เต็มตัวแล้ว ก็ไม่ใช่ใคร “ญี่ปุ่น” นี่เอง ที่ประสบปัญหาประชากรผู้สูงวัยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น หลายประเทศก็เจอภาวะนี้ ประเทศเราเองในอีก 1 – 2 ปีนี้ก็เตรียมประกาศว่าเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุแล้วเช่นกัน เทรนด์โลกทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่ห่างกันมาก แต่มีความแตกต่างและไม่สอดคล้องกันเสียเลย
ถ้ามองอย่างเป็นธรรม(ไม่ได้ดูหมิ่นผู้สูงอายุ)เราอาจบอกได้ว่าเทรนด์ “สังคมไร้เงินสด” เป็นเทรนด์ของอนาคต ซึ่งเหมาะกับคนวัยหนุ่มสาว และวัยทำงาน รวมไปถึงคน Gen ใหม่ในอนาคต แต่คงไม่ตอบโจทย์ “คนสูงวัย” ที่อาจตามไม่ทันเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลง (อันนี้กล่าวโดยรวม เพราะก็มีผู้สูงอายุบางส่วนปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ดีเหมือนกัน) การใช้จ่ายทำธุรกรรมการเงิน ผ่าน mobile banking หรือระบบ Wallet ต่างๆอาจเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับคนหนุ่มสาว แต่ทางกลับกันสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นอุปสรรค สำหรับผู้สูงวัยอย่างมากทีเดียว แล้วโลกควรจะปรับตัวรับเทรนด์ไหนดีล่ะ จะปรับตัวรับอนาคตที่จะเข้ามา หรือจะอยู่กับปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยผู้สูงวัยก่อนดี เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาที่น่าคิด
เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่ปรับตัวเองให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเช่นกัน และนั่นก็ทำให้ญี่ปุ่นก็เจอความท้าทายและต้องเผชิญกับ Digital Disruption เหมือนทั่วโลก ยักษ์สถาบันการเงินของประเทศญี่ปุ่นต้องปรับตัวอย่างหนักเมื่อ เทคโนโลยี mobile banking เข้ามามีบทบาทกับผู้คนมากขึ้น แต่เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นนั้นมีความแตกต่างจากประเทศอื่นบนโลกอย่างสิ้นเชิง เพราะญี่ปุ่นกลับพยายามเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเงินของประเทศเป็น “สังคมไร้เงินสด” ก็เพื่อ “สังคมผู้สูงอายุ”
อาจจะรู้สึกแปลกๆกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นเช่นนั้นจริงๆ ลักษณะแต่เดิมพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นค่อนข้างระมัดระวังด้านการเงิน ผลสำรวจจากบอสตัน คอนซัลติ้ง ระบุว่า 65% ของการจับจ่ายในญี่ปุ่นยังอยู่กับเงินสด ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆอยู่ที่ 32% ในญี่ปุ่นมีตู้ ATM ทุกหัวมุมถนน ลักษณะนิสัยชาวญี่ปุ่นที่ค่อนข้างจะประหยัดและใช้จ่ายน้อย ทำให้เกิดชุดความคิดที่ว่า การใช้บัตรเครดิตทำให้เป็นหนี้ง่าย ธุรกิจบัตรเครดิตในญี่ปุ่นจึงไม่แพร่หลาย ขณะที่การพกเงินสดจำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจ เพราะประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดอาชญากรรมค่อนข้างต่ำ ทำให้ลักษณะสังคมญี่ปุ่นเป็น “สังคมเงินสด” เต็มตัว แต่จากการที่ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบแล้ว ประชากรกว่า 27.3% มีอายุมากกว่า 65 ปี การบริโภคและการใช้จ่ายจะลดลงอย่างมาก เมื่อการใช้จ่ายของประชากรลดลง เงินหมุนเวียนในประเทศก็ขาดสภาพคล่อง นี่ไม่นับรวมถึงเรื่องของธนาคารอย่างการกู้สินเชื่อต่างๆที่ลดลงไปด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผลประกอบการของธนาคารแย่ลง และเศรษฐกิจของประเทศไม่คืบหน้าไปไหน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามเร่งผลักดันสถาบันการเงินให้ปรับตัวเพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
สถานการณ์โลกกับอุตสาหกรรมการเงินที่เปลี่ยนแปลง
ญี่ปุ่นปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและสถานะของประชากรในประเทศของตนเอง พวกเขาคาดการณ์ว่าในปี 2055 ญี่ปุ่นจะมีประชากรน้อยกว่า 100 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 127 ล้านคนเป็นผลพวงจากสังคมผู้สูงวัยในประเทศ และรัฐบาลแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการเอาเทคโนโลยีมาช่วย ส่วนสถาบันการเงินก็ถูกกดดันให้ปรับตัวและลดขนาดลง ซึ่งปีนี้เราจะเห็นว่ามีสถาบันการเงินในญี่ปุ่นประกาศลดสาขา รวมถึงลดพนักงานกันหลายแห่ง พวกเขากล่าวว่าต้นทุนในการจ้างพนักงานอาจเท่ากับๆกับการลงทุนในเทคโนโลยี Fintech และบางทีอาจจะสูงกว่าด้วยซ้ำ “มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ กรุ๊ป” สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น เผยข้อมูลว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชาวแดนอาทิตย์อุทัยลดการใช้บริการในสาขาธนาคารลงกว่า 40% และธนาคารได้ประกาศลดจำนวนพนักงานในญี่ปุ่นลง 6,000 คน ภายในปี 2023 จากที่มีอยู่ทั้งหมด 40,000 คน
อีกด้านหนึ่งของการปรับตัวในญี่ปุ่นก็คือ สถาบันการเงินญี่ปุ่นมีการปรับตัวและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ทั้งเพื่อลดต้นทุนและสร้างสรรค์บริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มต่างๆมากขึ้น เช่น กรณี “มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ” เตรียมนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ทดแทนแรงงานด้านธุรกรรมภายใน 2024 คิดเป็น 9,500 แรงงาน เพื่อใช้ในการคัดแยกเอกสาร เช่น ใบจำนอง เช็ค เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปบริการลูกค้ารายใหญ่มากขึ้น โดยพวกเขาหวังว่า พวกเขาจะใช้เทคโนโลยีปรับเข้าหาผู้สูงวัยแทน เพราะการจะให้คนสูงวัยปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีอาจเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ถ้าคนสร้างเทคโนโลยีรู้ว่าคนสูงวัยต้องการอะไรและพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถตอบโจทย์คนสูงวัยได้ ก็จะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีสอดรับกับสังคม สามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้แบบไม่ขัดแย้ง
ดูเหมือนว่าการจะเปลี่ยน “สังคมเงินสด” ให้กลายเป็น “สังคมไร้เงินสด” ในญี่ปุ่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องยอมรับว่าบริบทสังคมที่แตกต่างนี้ทำให้ ไอเดียการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุของญี่ปุ่นดูเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่านำกลับไปคิดไม่น้อย