เคยสงสัยมั้ยว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ต้องเป็นคนยังไง? แล้วสังคมของเราเริ่มสนใจเรื่องคนมีความสร้างสรรค์มาตั้งแต่เมื่อไหร่ ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของความคิดสร้างสรรค์เป็นประเด็นที่โลกพูดถึงกันมานานมารู้ตั้งแต่ยุคไหนแล้ว แต่ทว่า ในปี 2007 เป็นต้นมา “ความคิดสร้างสรรค์” กลายเป็นประเด็นสังคมที่ถูกพูดถึงในแง่ของความสำเร็จของหน้าที่การงาน ธุรกิจและเรื่องการใช้ชีวิตมากเสียจน เป็นจุดเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในเวลาถัดมา
ถ้าสังเกตกันให้ดี ในการทำงานในปัจจุบันนี้ไม่ว่าองค์กรเล็กหรือใหญ่ ถ้าพูดถึงการรับคนเข้าทำงาน พูดถึงการบริหารงานบุคคลในบริษัท คำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” จะถูกเน้นย้ำเป็นประเด็นแรกๆที่ต้องนำมากล่าวอยู่เสมอ ทำไมน่ะหรือ เราสามารถตอบคำถามนี้ได้ จากคำพูดของผู้ยิ่งใหญ่ในวงการกลยุทธ์ธุรกิจ อย่าง ไมเคิล พอร์เตอร์ (Michael Porter) ที่กล่าวว่า
ในศตวรรษที่ 21 ไม่มีธุรกิจไหนที่จะเป็นที่ 1 ได้ตลอดไป มีแต่ธุรกิจที่มองหากลยุทธ์การแข่งขันใหม่ๆ แล้วพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเท่านั้น ถึงจะประสบความสำเร็จขึ้นมาเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจนั้นได้ นี่คือ การแข่งขันของธุรกิจในยุคปัจจุบัน
สิ่งที่ไมเคิล พอร์เตอร์กล่าวชี้ชัดว่า กลยุทธ์ธุรกิจในยุคใหม่นี้ จะต้องเป็นเรื่องของการผสมผสานเรื่องส่วนแบ่งทางการตลาดกับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ อย่างล่ะครึ่ง แต่จุดเริ่มต้นที่สำคัญไม่ใช่เรื่องการตลาด แต่เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ถ้าคนในบริษัทเต็มไปด้วยคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ กลยุทธ์การตลาดใหม่ที่สร้างสรรค์ก็จะเกิดขึ้น นั่นทำให้บริษัทสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่ในตลาดต่างๆและมีส่วนแบ่งทางการตลาดได้ เมื่อเป็นดังนี้คำถามที่น่าสนใจก็ตามมาคือ แล้วจะทำอย่างไรให้คนในบริษัทมีความคิดสร้างสรรค์ ก่อนที่จะรู้ว่าควรทำอย่างไร สิ่งที่ควรรู้ก่อนก็คือ คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มีคุณสมบัติอย่างไร
คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ต้องมี 4Cs
C1 Compassion รู้สึกร่วมไปกับลูกค้า
หมายความว่า ต้องเป็นคนที่อ่อนไหวและไวต่อความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่แค่คิดไอเดียแปลกใหม่หรือาร้างสรรค์ออกมาเท่านั้น แต่ต้องเป็นไอเดียที่ตรงใจลูกค้า และลูกค้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงด้วย
C2 Conception เข้าใจภาพรวมทั้งหมด
การจินตนาการแบบเข้าใจภาพรวม แตกต่างจากการจินตนาการทั่วไป ตรงที่ถ้าเราจินตนาการโดยเข้าใจภาพรวมทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้จินตนาการนั้นกลายเป็นรูปเป็นร่างจริงขึ้นมาได้ การเข้าใจภาพรวมทั้งหมด จะช่วยให้เราแนะนำทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายได้ หัวใจสำคัญของการทำงานแบบเข้าใจภาพรวมก็คือ การร่วมมือกับคนที่หลากหลาย คนที่มีความรู้และประสบการณ์ต่างไปจากตัวเอง หรือก็คือ “การสร้างความร่วมมือระหว่างกัน” นั่นเอง
C3 Controversy สื่อสารแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์
เมื่อคิดไอเดียสร้างสรรค์ได้แล้ว ก็ต้องสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ด้วย ถ้ารู้จักสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และสนุกสนาน ก็จะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรให้สมาชิกคนอื่นๆอยากแสดงไอเดีย อยากมีส่วนช่วยให้ไอเดียนั้นสมบูรณ์เป็นจริงมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การสื่อสารนั้นจะต้องราบรื่น หรือคนอื่นต้องเห็นด้วยเสมอไป เพราะการมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันบ้างเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์เดิมให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือ การรับฟังความคิดเห็นกันและกัน ให้ความเคารพในความคิดเห็นที่ต่างกันไปของอีกฝ่ายได้
C4 Commitment มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับงาน
การเป็นคนมุ่งมั่นทุ่มเท หมายความว่า ต้องกระตือรือร้นและมุ่งมั่นไม่ลดละ ที่จะทำไอเดียของตัวเองให้กลายเป็นจริง เมื่อได้ลงมือทำอะไรไปแล้วก็จะต้องทำให้สำเร็จ เข็นไปถึงฝั่งฝันให้ได้ ในการสร้างสรรค์ไอเดีย แน่นอนว่าต้องผ่านด่านมากมาย กว่าไอเดียจะสำเร็จออกมาเป็นรูปร่างได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความกระตือรือร้นและความพยายามอย่างไม่ลดละ จึงจะทำงานออกมาให้สำเร็จได้
ทัศนคติ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
จุดเริ่มต้นของการคิดสร้างสรรค์ อยู่ที่เริ่มต้นจากการคิดบวก ทัศนคติและมุมมองของคนแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกัน แต่ใครที่มีทัศนคติเชิงบวกมากๆ คนๆนั้นมักจะมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ดีๆเสมอ ทัศนคติ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Attitude มีความแปลกประหลาดหนึ่ง หรือจะใช้คำว่ามีพลังบางอย่างอยู่ในคำๆนี้ โดยที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลย นั่นก็คือ ตัวอักษรภาษาอังกฤษมีทั้งหมด 26 ตัว โดยถ้าเราเอาตัวอักษรเหล่านั้นมาแทนค่าด้วยตัวเลขตั้งแต่ 1 – 26 จากนั้นเอาค่าตัวเลขเหล่านั้นมาผสมคำและลองนำมาบวกกันดูสิ แทบหาคำไหนไม่ได้เลยที่บวกแล้ว จะมีค่าเท่ากับ 100 พอดี แต่สำหรับความว่า Attitude แทบจะเป็นคำเดียวเลยก็ว่าได้ที่ได้ผลลัพธ์ในการบวกเท่ากับ 100 พอดี นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ถ้าเราเริ่มต้นมองโลกจากทัศนคติเชิงบวก คิดบวกอยู่เสมอ ผลลัพธ์ที่ออกมาต้องดี 100% แน่นอน
เมื่อคุณคิดว่ามันจะต้องสำเร็จ พลังแห่งความสร้างสรรค์ต่างๆ ก็จะไหลบ่ามา หากพบเจอปัญหา คุณก็จะมองว่ามันไม่ใช่ปัญหา มันเป็นแค่เรื่องที่ฝ่าไป เป็นโจทย์ที่ต้องลงมือแก้ สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยทำให้สิ่งที่ตั้งเป้าไว้สำเร็จลงจนได้ นั่นจึงทำให้คนที่คิดบวกกลายเป็นคนที่แกร่งที่สุด เพราะเขาฝ่ามันได้ทุกอุปสรรคโดยไม่ถอดใจไปเสียก่อน