เลือกประเด็นเขียน Storytelling อย่างไรให้คนรู้สึกอยากติดตาม | EP.5

เลือกประเด็นสร้างสรรค์มาเขียน Storytelling ถือเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่การหยิบประเด็นไม่สร้างสรรค์มาเขียนให้สร้างสรรค์กลับเป็นสิ่งที่น่าทำยิ่งกว่า

1788
choosing-storytelling01

Content Writing 101 : Ep.5

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • ธรรมชาติของมนุษย์มักสนใจแต่เรื่องเชิงลบ เรื่องดราม่า และเรื่องที่หลายคนอาจจะมองว่าไร้สาระ แต่นั่นแหละคือความเป็นจริง เพราะสิ่งเหล่านี้มันอยู่ใกล้ตัวพวกเรา มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคน
  • ถ้าคุณสามารถหา “สาระ” ในเรื่อง “ไร้สาระ” เจอได้ และสามารถที่จะนำมาเขียน story telling อย่างสร้างสรรค์ได้ เรื่องไร้สาระก็จะไม่ไร้สาระอีกต่อไป
  • Content บทความที่ทำให้คนเห็นแล้วรู้สึกสะดุดอยากรู้อยากอ่านทันที จำเป็นต้องเป็นประเด็นเชิงลบหรือดราม่า แต่ไม่จำเป็นที่จะต้อง Storytelling ให้คนรู้สึกทุกข์หรือเครียดกับปัญหานั้นก็ได้
  • ถ้าคุณยืนหยัดที่จะเขียน Content ในเชิงสร้างสรรค์(แม้จะถูกเหน็บว่าเป็นพวกโลกสวยก็ตาม) ก็ต้องทำใจว่างานของคุณอาจจะไม่เข้าตาคนหมู่มาก มันอาจไม่ดังไม่มีใครสนใจ แต่ขอให้รู้ไว้ว่า อย่างน้อย ๆ มันก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงโลกนี้ให้สวยงามและมีคุณค่า คิดแบบนี้ได้คุณก็ไม่ต้องท้อ

ใน Ep. นี้ผมมาจะมาชวนคุยในเรื่อง การเลือกประเด็นการเขียน Storytelling หรือเขียนบทความเล่าเรื่อง เล่าประสบการณ์ต่างๆให้คนเห็นปุ๊บก็รู้สึกสะดุด สนใจและอยากอ่านกันครับ

จริงๆการเลือกประเด็นเขียน Storytelling หรือการหา Topic ที่น่าสนใจเขียน Content สักเรื่องให้คนเห็นปุ๊บแล้วรู้สึกสะดุดสนใจอยากอ่านนั้นไม่ยากเลยครับ แต่…ขอเบรกสักนิดก่อนไปต่อ ที่ว่าไม่ยากก็ไม่เชิงครับ เพราะขึ้นอยู่กับว่า “คุณเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ดีแค่ไหน”

โดยความเห็นและความรู้สึกส่วนตัวของผม มองว่าธรรมชาติด้านจิตวิทยาของมนุษย์แล้ว มนุษย์ชอบเสพหรือรับรู้เรื่องที่ “ไม่ดี” อันนี้เป็นเรื่องจริงที่เราสัมผัสกันได้

อย่างถ้าดาราเลิกกันนี่จะเป็นข่าวใหญ่มากกว่า ดาราแต่งงานกันอีกนะ เรื่องใต้เตียงนี่จะได้รับความสนใจมากกว่าเรื่องบนเตียงเสียอีก ถ้าเป็นเรื่องบนเตียงก็ต้องอยู่ที่ว่าเป็นเตียงของใคร ถ้าเป็นเตียงแบบเปิดเผย(ดาราแต่งงานกันแล้ว) คนก็จะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องบนเตียงของดาราที่ยังไม่แต่งงานกัน แอบไปขึ้นคอนโดกันลับๆล่ะก็ โอ้ เรียกความสนใจได้มากทีเดียว หรือ ถ้าเป็นเรื่องของ คนทะเลาะกัน คนตีกัน เรื่องอุบัติเหตุ เจ็บตาย วัยรุ่นยกพวกตีกันตบกัน คุณจะเห็นว่า เรื่องเหล่านี้ได้รับความสนใจง่ายมาก เพราะมันเข้าถึงง่ายกับความรู้สึกของมนุษย์นั่นเอง

song-joong-ki-song-hye-kyo

เรื่องราวในเชิงลบเหล่านี้สามารถแทรกตัวเองเข้าไปกระทบกับความรู้สึกของมนุษย์ได้ง่ายกว่าเรื่องดีๆหรือเรื่องเชิงบวก ซึ่งเรื่องนี้่คือธรรมชาติของ “จิต” มนุษย์ สังเกตง่ายๆจากตัวเราเองก็ได้ครับ เวลาคุณมี Moment แห่งความสุข คุณรู้สึกไหมว่า มันผ่านไปเร็ว เราอยากเก็บช่วงเวลาดีๆไว้กับเราให้ยาวนาน แต่มันก็มักจะจากเราไปเร็วเสมอ ส่วนเรื่องที่เป็นทุกข์ ทำให้ความรู้สึกเราดิ่งจมลงในห้วงแห่งมหาทุกข์แห่งความเจ็บปวด เราไม่อยากจะเก็บมันไว้เลย แต่จะสลัดอย่างไรมันก็ไม่หลุดจากเราไปง่ายๆสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า

ทุกข์ ความเจ็บปวดเป็นของที่อยู่คู่กับชีวิตมนุษย์ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความทุกข์ เรื่องราวที่เป็นแง่ลบหรือมีความทุกข์ ความเสียใจสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาผู้คนจึงรับมันไว้ได้ง่าย เพราะมันสัมผัสได้ง่าย มันอยู่ใกล้กับชีวิตพวกเขา และพวกเขาต่างรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนั่นเอง

การ story telling เนื้อหาที่ออกเป็นเชิงลบแบบนี้ เราเห็นกันทุกวันและแทบจะตลอดเวลาครับ ซึ่งนั่นก็คือ คอนเทนต์ประเภท “ข่าว” การเขียน Storytelling ข่าวต่างๆในวันนี้ที่บางทีก็ล้ำเส้น “จรรยาบรรณ” ไปมาก แต่มันกระตุ้นความสนใจเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ ฉะนั้น ถ้าคุณเลือก Topic ที่เป็นแนวข่าวมีเนื้อหาเชิงลบที่ชวนให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วม แบบชวนให้เครียด ชวนให้สลดหดหู่ ชวนให้ไม่สบายใจ ชวนให้โกรธแค้นมาเขียน Content ต้องบอกว่าคนทั่วไปได้เห็น ก็จะรู้สึกสะดุดและเริ่มสนใจอยากอ่านทันที เนื้อหาคุณจะดึงดูดคนได้ง่าย ทำให้คนเข้าถึงได้ และพวกเขาจะรู้จักคุณได้ไม่ยาก แม้คุณจะเขียนหรือทำการ story telling แบบแย่แค่ไหน พาดพิงถึงใคร มีอคติหรือเข้าข้างฝั่งไหนก็ตาม ก็จะมีคนอ่านของคุณอยู่ดี เขียนไม่ดีมีแต่คอมเมนต์ด่ากลับมา แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็อ่าน เพราะถ้าเขาไม่ได้อ่าน เขาจะติหรือด่ากลับมาได้อย่างไรจริงไหมครับ

Ideas-about- -Storytelling

ส่วนการเขียน Content ประเภทที่เป็นเชิงบวกและสร้างสรรค์ที่เห็นชัดเลยก็คือ เขียน Content โฆษณาสินค้า ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เรามักจะไม่อ่านหรือกดข้ามไปนั่นเอง

การเขียน Content โฆษณาสินค้า นั้นจะต้องใช้ความคิดเชิงบวกและความสร้างสรรค์อย่างมาก คุณจะต้องหาวิธีที่จะ story telling หรือ เขียนเล่าเรื่องหรือบรรยายสรรพคุณสินค้า ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม เพื่อเป้าหมายเดียวก็คือ “ให้สินค้าขายได้” คุณคิดดูสิ ถ้าไม่สร้างสรรค์จะคิดได้ยังไง ถ้าในสมองของคนๆนั้น มีแต่เรื่อง “แย่” แบบแย่งสามี แย่งภรรยา ตบตี ยาเสพติด อาชญากรรม การเมืองแห่งการโกงกิน อยู่เต็มสมอง ลองคิดดูว่าการเขียน Storytelling หรือ เขียนเล่าเรื่อง เพื่อโฆษณาสินค้าของคนๆนั้น จะออกมาเชิงลบขนาดไหน บางทีอาจจะไม่ได้สะท้อนออกมาผ่าน ตัวอักษร 100% แต่อาจจะ story tellingออกมาเป็นงาน Production โดยรวม ทั้งภาพ และข้อความ เช่น

โฆษณาเบอร์เกอร์คิง (Burger King) ในนิวซีแลนด์ ชิ้นนี้ที่คนทำลบแถบไม่ทัน เพราะกลายเป็นประเด็นดราม่าขึ้นมา เนื่องจากเนื้อหาในโฆษณาส่อไปในทางดูหมิ่นชนชาติจีน คล้ายๆกับเป็นการล้อเลียนวัฒนธรรมการกินอาหารของคนจีน ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ ได้เห็นก็โจมตีอย่างหนักผ่านโซเชียลมีเดีย จริงๆแล้วเนื้อหาในโฆษณาสินค้าชิ้นนี้ คนทำต้องการที่จะนำเสนอเบอร์เกอร์สูตรใหม่สไตล์เวียดนาม แต่การเขียนบทโฆษณาสินค้า และการ story telling ออกมาเป็นงาน Production ทั้งหมด กลับทำออกมาให้คนรู้สึกในเชิงลบมากกว่า เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นความตั้งใจของคนทำหรือไม่ อาจจะมองเป็นการสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งก็ได้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าในใจลึกๆของคนคิดงานชิ้นนี้ อาจมีเรื่องในเชิงลบ เกี่ยวกับ “วัฒนธรรมและชาติพันธุ์” ก็เป็นไปได้เหมือนกัน

หรือถ้าเป็นบทความตัวอักษรก็อาจเป็นตัวอย่างลักษณะนี้

Non-creative -issues

อ้าว ถ้าการเขียน Content เชิงลบคนเข้าถึงง่ายกว่า แบบนี้แปลว่า การเขียน Storytelling ให้ได้รับความสนใจก็ต้องทำแต่เรื่องแง่ลบน่ะสิ ทุกวันนี้เรื่องแย่ๆมันยังน้อยไปหรือไง ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ ส่วนตัวผมแล้ว ผมกลับรู้สึกต่อต้านกับเนื้อหาเชิงลบเหล่านี้นิดๆและสนับสนุนให้คนเขียน Content ในเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์มากกว่า และถ้าคุณคิดเหมือนผม คือ อยากเขียนเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์ บอกได้คำเดียวว่า “ทำใจไว้ก่อนนะ” (ส่วนผมน่ะทำใจตั้งแต่เริ่มต้นเขียนแรกๆแล้วครับ ฮ่าๆ) เพราะงานของคุณจะไม่ใช่งานที่เป็น Mass หรือ งานที่คนส่วนใหญ่เขาสนใจ มันไม่ได้ตอบสนองจิตธรรมชาติของมนุษย์ มันอาจไม่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ คนจะเข้าถึง Content ที่สร้างสรรค์ของคุณจะเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อาจมีไม่กี่คน

ในฐานะคนสร้างสรรค์งาน การผลิตงานออกมาให้คนได้ชมได้อ่าน แม้เพียงไม่กี่คนก็ถือว่ามีคุณค่าแล้ว ฉะนั้น ไม่ต้องซีเรียสมากในเรื่องนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่เป็นจริงในโลกใบนี้

แล้วเราจะหาจุดสมดุลอย่างไร อยากเขียน Storytelling เรื่องดีๆแบบให้คนมาสนใจทำได้บ้างไหม คำตอบก็คือ ก็พอทำได้ครับ ไอเดียก็คือ

“มองทุกอย่างให้กว้างขึ้น” เห็นเรื่องอะไร อ่านเรื่องอะไรมา อย่าเพิ่งเชื่อทันที ลองคิด วิเคราะห์ประเมินในมุมกลับกันด้วย ลองหาทฤษฎีมาอ้างอิงและอธิบายในเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วคุณจะเห็นว่าในเรื่องดี ก็มีเรื่องที่ไม่ดีแทรกอยู่ และในเรื่องที่ไม่ดีก็อาจมีเรื่องดีๆแทรกอยู่ด้วย ลองนำมุมมองทั้งสองด้านมาผสมกัน

เข้าท่าดีนะคุณว่าไหม ไอเดียนี้มีให้เห็นเยอะเลยล่ะครับในวันนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็ Content ที่คุณอ่านอยู่นี่ยังไงล่ะครับ ประเด็นก็คือ ทำไมเรื่องที่มีเนื้อหาเชิงลบถึงได้รับความสนใจ ผมก็นำทฤษฎีทางศาสนาและจิตวิทยาของมนุษย์มาอธิบายดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เรื่องที่เป็นเชิงลบ ถ้าคุณสามารถหาแง่มุมใหม่ๆมา story tellingในเชิงสร้างสรรค์ได้ มันก็มีโอกาสที่ผู้ชมจะรู้สึก “in” ไปกับ Content ของคุณ หรือ เรื่องยากๆสักเรื่อง ถ้าคุณสามารถทำให้มันอ่านง่ายขึ้น โดยรู้วิธีการเขียน Storytelling ทำให้คนรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ก็สามารถทำให้คน in กับ Content ของคุณ ได้อีกเช่นเดียวกัน

Choosing-a-story -topic02

สรุปประเด็นชวนคุยในวันนี้ก็คือ การเขียน Storytelling ให้เข้าถึงคนง่ายประเด็นที่เลือกมาเขียนมีความสำคัญ หากต้องการจะให้บทความเป็นที่รู้จัก มีคนอ่านมาก ได้รับความสนใจกดไลค์กดแชร์กันมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องเลือกประเด็นดราม่า เรื่องเชิงลบมาเขียน แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่คุณนำเสนอ ถ้าคุณสามารถเขียนเล่าเรื่องแย่ๆให้คนอ่านไม่รู้สึกแย่และทำให้คนอ่านรู้สึกได้อะไรบางอย่างกลับไปคิดกลับไปทำได้ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้คนสนใจเนื้อหาที่คุณเขียนตลอดไป แต่ถ้าจะเขียนเรื่องดีๆก็ต้องทำใจ คนอาจจะอ่านน้อย แต่อยากให้คิดแบบนี้ครับว่า อย่างน้อยคุณก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้สังคมแห่ง Big Data เกิดความสมดุลขึ้นมาได้ มีเรื่องไม่ดีเยอะแล้ว มีเรื่องสร้างสรรค์มาจัดสมดุลให้สังคมบ้างมันก็ดีเหมือนกันนะครับ ฉะนั้น จงภูมิใจเถอะครับ

ครั้งนี้ผมมาชวยคุยไว้เท่านี้ก่อนนะครับ ครั้งหน้าผมจะมีเรื่องอะไรมีมาชวนคุยกันอีกบ้าง ฝากติดตามกันด้วยนะครับ


ภาพบางส่วนจาก : ข่าวสด

ข้อมูลอ้างอิง : shanghai.ist