Content Writing 101 : Ep.4

ประเด็นที่น่าสนใจ

หัวใจสำคัญที่คุณจะต้องรู้ก่อนลงมือเขียน Storytelling ก็คือ

  • คนอ่านของเราคือ ใคร
  • ทำไมเขาต้องรู้เรื่องนี้
  • เนื้อหาที่เขียนเข้าถึงอารมณ์ของคนอ่านได้หรือไม่

ใน Ep. นี้ตั้งใจว่าจะมาชวนคุยกึ่งแนะนำเรื่องการเขียน Storytelling หรือการเขียนเล่าเรื่อง ซึ่งปัจจุบันเป็นทักษะสำคัญที่ตลาดแรงงานเกี่ยวกับด้านการตลาด การทำ Content Marketing เพื่อธุรกิจ หรือสายอาชีพ Content Creator กำลังต้องการเป็นอย่างมากเลยครับ การจะเขียน Storytelling หรือทำ Content แนว story telling เพื่อโฆษณาสินค้าให้กับกลุ่มธุรกิจ หรือจะทำเพื่อโปรโมทโฆษณาสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ตนเองก็ตาม จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดก็คือต้องรู้ว่า คนอ่านของเราคือใคร

เข้าใจผู้รับสาร (Audience)

Introduction to storytelling-02

การจะเป็น Content Creator หรือ คนเขียนเล่าเรื่อง (Story Teller) ที่ดีมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องนั้นนะครับ เรื่องแรกที่คุณต้องรู้เลยก็คือ “คุณจะเขียนให้ใครอ่าน” ผู้รับสารของคุณคือใคร คุณวางกลุ่มเป้าหมายไว้คือคนกลุ่มไหน อายุเท่าไหร่กันบ้าง ผู้รับสารจะเป็นผู้กำหนดทุกอย่างที่คุณกำลังจะลงมือทำครับ แม้ว่าการเขียน Storytelling จะช่วยคนอ่านสามารถที่จะเข้าถึงเนื้อหาที่คุณอยากจะสื่อสารออกไปได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า Content ที่คุณ story telling ออกไปจะเหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัยนะครับ เมื่อคนแตกต่างกัน เนื้อหาและวิธีที่จะ story telling ก็ควรจะต่างกันออกไปด้วย แล้วอะไรบ้างล่ะครับที่คุณจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคนอ่านของคุณ มาดูกันเลยครับ

  • เพศ
  • อายุ
  • ความสนใจ ความฝัน ความมุ่งหวังหรือความคาดหวังของพวกเขา
  • ปัญหาและความกลัวของพวกเขา
  • อารมณ์และความรู้สึก ต่อบริบทในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา

เพศและอายุ เป็นพื้นฐานที่จะกำหนดทิศทางเบื้องต้นครับ เพราะหญิงชาย จะมีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน และคนแต่ละช่วงวัยก็มีภาษาในการสื่อสาร ความสนใจในเรื่องต่างๆแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าคุณอยากจะเริ่มต้นเขียน Storytelling แล้วไม่แป้กคุณต้องถามตัวเองดังๆเลยว่า Content ที่คุณจะลงมือทำนั้นจะนำไปสื่อสารกับใคร

ทำไมคนอ่านควรต้องรู้

Introduction to storytelling-01

จะเขียนเล่าเรื่องอะไรออกมาสักเรื่อง คุณต้องถามตัวเองก่อนครับว่า

  • คนอ่านจะได้อะไรจากงานเขียน Storytelling ของคุณ
  • Content ของคุณมีเนื้อหาอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา มีอะไรบ้างที่พวกเขาควรรู้ หรือพวกเขาจะได้อะไรกลับไปบ้างหลังจากอ่านจบ
  • Content ของคุณ สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหา บรรเทาปัญหา หรือเป็นสิ่งที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกอะไรให้กับพวกเขาได้บ้าง

ถ้างานเขียน Storytelling ของคุณ ไม่ตอบโจทย์อะไรเหล่านี้เลย ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นทำการบ้านใหม่ครับ หาประเด็นที่จะสามารถนำมาเขียนเล่าเรื่องแล้วตอบโจทย์คนอ่านตามที่ได้กล่าวมา 3 ประการนี้ให้ได้

มาดูตัวอย่างกันนะครับ สมมุติว่า มีแบรนด์ธุรกิจ A มาว่าจ้างคุณให้เขียน Content เพื่อโฆษณาสินค้าให้กับแบรนด์ของเขา สิ่งที่คุณจะต้องทำให้กับแบรนด์ธุรกิจ A ไม่ใช่แค่การเขียนบทความหรือ เขียน Content โฆษณาสินค้าให้กับเขาแค่นั้นนะครับ แต่สิ่งที่คุณจะต้องทำให้กับแบรนด์ธุรกิจ A ก็คือ

  • ทำความรู้จักและทำความเข้าใจสินค้าและบริการของแบรนด์ธุรกิจ A ว่าสินค้าของเขาคืออะไร และดีอย่างไร สามารถทำอะไรได้บ้าง มีจุดเด่นและจุดด้อยอะไรบ้าง
  • ต้องศึกษาภาพรวมของแบรนด์ธุรกิจ A ให้รู้กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของแบรนด์ธุรกิจ A
  • เลือกสำนวน หรือถ้อยคำที่เหมาะสมสำหรับที่จะสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ธุรกิจ A
  • เลือกสำนวน หรือถ้อยคำที่มีพลังที่จะสามารถโน้มน้าวกลุ่มผู้รับสารให้มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการกับแบรนด์ธุรกิจ A หรือทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ธุรกิจ A ดูดีขึ้นในสายตาของผู้รับสาร

ซึ่งคุณจะเห็นว่าขั้นตอนทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่การเขียน Content หรือบทความโฆษณาสินค้าทั่วไป แต่นี่คือการทำ Content Marketing ให้กับแบรนด์ธุรกิจ A คนเขียน Content ต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่ “นักเขียน” ต้องเป็นทั้ง นักสื่อสาร และนักการตลาดไปด้วยในเวลาเดียวกัน นี่คือการทำงานจริงๆของ Content Creator มืออาชีพ และเทคนิคที่จะทำให้การสื่อสารกับทุกฝ่าย ทำให้คนอ่านรู้สึกอ่านง่ายขึ้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้แบรนด์ธุรกิจ A พอใจไปด้วยก็คือ การเขียน Storytelling ซึ่งช่วยให้แบรนด์ธุรกิจ A สามารถสื่อสารเรื่องยากๆกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเขาได้ง่ายขึ้นและได้ผลมากกว่าเดิม เมื่อการสื่อสารเป็นผล ลูกค้าของแบรนด์ธุรกิจ A ก็ยินดีที่จะซื้อสินค้าและบริการจากแบรนด์ธุรกิจ A ทำให้แบรนด์ธุรกิจ A ได้ยอดขายเพิ่ม คุณจะเห็นว่า แค่คุณตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำไมคนอ่านควรต้องรู้เรื่องที่คุณจะเขียน” ก็สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกฝ่ายได้ คนก็จะมีรายได้จากการเขียน Storytelling แล้ว

เข้าถึงความคิดไม่พอ ต้องเล่าให้ถึง “ใจ” คนอ่าน

Introduction to storytelling-04

การเขียน Storytelling ในยุคสมัยใหม่ที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์นั้น ไม่จำเป็นต้องแบ่งประเภทหรือชี้ชัดไปอย่างชัดเจนครับว่า นี่เป็นเนื้อหาในหมวดไหน อย่าง คุณจะเขียน Storytelling เรื่องการเมืองก็ไม่จำเป็นที่คุณจะต้อง story telling ประเด็นการเมือง 100% ก็ได้ครับ เพราะเรื่องการเมืองจริงๆก็เกี่ยวข้อง กับเศรษฐกิจและสังคมด้วย จึงอยู่ที่ว่าเราจะนำเสนอในมุมไหน กล่าวง่ายๆว่า “1ประเด็น สามารถนำเสนอได้หลายแง่มุม” ฉะนั้น

การเขียน Storytelling ให้มีพลังในการสื่อสารกับคนอ่าน แบบไม่ใช่แค่การเข้า ไปอยู่ใน “ความคิด” ของคนอ่าน แต่เข้าไปถึง “ใจ” คนอ่านเลย คุณจะต้องพยายามตีโจทย์ประเด็นที่จะเขียนให้กระจ่าง แม้จะเป็นเรื่องเดิมๆแต่ต้องพยายามหามุมมองใหม่ๆให้ได้

กระบวนการที่จะช่วยทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆจากเรื่องเดิมๆก็คือ

  • รับสารจากทุกช่องทาง ทั้งอ่าน ทั้งดู ทั้งฟังให้มากๆยุคนี้ไม่จำเป็นต้องอ่านอย่างเดียว เพราะข้อมูลดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณเขียน Storytelling อย่างมีคุณภาพได้มีอยู่ทุกแพลตฟอร์มแล้ว
  • ประชุมกับเพื่อนร่วมงาน (ถ้ามี) ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ล่ะ 1 วัน
  • สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้คน ในความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่เราต้องการจะตีโจทย์
  • ศึกษาบริบท ภูมิหลัง หรือแนวคิดที่สามารถต่อยอดได้

กระบวนการเหล่านี้แม้จะวางกรอบไว้ว่าจะทำตามนี้ หรือจะใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งก็ตาม ทุกอย่างก็อาจไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ก็ได้ เพราะเหตุการณ์ต่างๆรอบๆตัวมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ บางครั้งกว่าเราจะไปศึกษาลงลึกในรายละเอียดของประเด็นที่สนใจ เรื่องใหม่ๆ ที่เข้ามาอาจดูน่าสนใจกว่าและทันสมัยกว่าก็ได้ เรื่องที่เราสนใจอาจจะดูไม่อินเทรนด์หรืออยู่ในกระแสอีกแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงต้องจัดสมดุลให้ได้ หรือต้องจับมายัดรวมกันได้ คือนำประเด็นที่เป็นกระแส สอดแทรกเข้าไปในเรื่องที่เราจะเขียน Storytelling เพื่อทำให้เรื่องราวมีพลังจนจับใจคนได้นั่นเอง

Introduction to storytelling-03

สิ่งที่ต้องให้น้ำหนักมากขึ้นในการเขียน Storytelling เพื่อให้เรื่องราวที่คุณเขียนได้รับความสนใจมากขึ้นก็คือ “อารมณ์และความสนใจของสังคม” เราต้องตีประเด็นให้ได้ว่า คนเขากำลังมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องอะไรครับ และมีความสนใจในเรื่องไหนอยู่ในขณะนั้น แต่ก่อนจะเริ่มเขียนต้องไม่ลืมเรื่องแรกนะครับ คือ เข้าใจผู้รับสารของคุณก่อน ว่าเป็นใคร อายุเท่าไหร่ครับเรื่องนี้สำคัญมาก

ตัวอย่าง การเลือกประเด็นมาเขียน Storytelling แบบให้สอดคล้องกับอารมณ์และความสนใจของสังคม เช่น ช่วงเดือนเมษายน 2019 เกิดเหตุไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม ในกรุงปารีส อันเป็นวิหารเก่าแก่ที่มีอายุถึง 850 ปี ประเด็นมีความน่าสนใจแม้จะเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก มีความสำคัญในระดับหนึ่ง แต่แล้วมันก็ไกลตัวคนไทย คุณจะเห็นว่าข่าวทุกสำนัก ทุกแพลตฟอร์ม ต่างแย่งกันออกข่าวประเด็นนี้ มีบทความมากมายนำประวัติเรื่องราวของมหาวิหารนี้ขึ้นมาพูดถึง ซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนั้น คุณอาจจะอยากก็กระแสนำมา story telling ในแบบของคุณบ้าง แบบนี้จะทำก็ได้ แต่คงไม่ปังและไม่ได้รับความสนใจ เพราะใครๆก็ทำกันแล้ว และคนอ่านคนไทยจะมองว่าไกลตัว แบบนี้จะทำอย่างไรให้แตกต่างและสอดคล้องกับอารมณ์และความสนใจของสังคมไทย

notredam

วิธีก็คือ หาประเด็นที่จะเล่าใหม่ ถ้าเรามองประเด็นที่จะนำเสนอในมุมที่เกี่ยวข้องและใกล้ตัวคนไทยได้ เช่น เรื่องของการกระบวนการซ่อมแซมโครงสร้างของตึก ระบบการดูแลความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารสถาปัตยกรรมในฝรั่งเศส โดยนำมาเทียบกับเหตุการณ์ เครนถล่มที่อัสสัมชัญบางรัก ที่เกิดขึ้นมาเร็วๆนี้ หรือ นำมาเทียบกับระบบการก่อสร้างตึกใหญ่ๆในไทยแบบนี้เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ คือ แนวทางในเริ่มเริ่มต้นการเขียน Storytelling อย่างมืออาชีพครับ ครั้งนี้ไว้เท่านี้ดีกว่าครับ คราวหน้าผมจะมาชวนคุยกันใหม่นะครับ