ฝังยาคุมกำเนิดเมื่ออายุน้อย มีผลต่อร่างกายในระยะยาวหรือไม่
การฝังยาคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะยาว 3-5 ปีขึ้นอยู่กับชนิดยาที่ใช้ ทั้งนี้ การฝังยาคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงต้องคำนึงถึงเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยด้วย แม้จะมีประสิทธิภาพสูง แต่ผู้หญิงหลายคนยังไม่กล้าใช้วิธีนี้เนื่องจากกังวลว่าจะมีผลต่อร่างกายในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝังยาคุมตั้งแต่อายุยังน้อย
อายุเท่าไรจึงควรฝังยาคุมกำเนิด
ยาฝังคุมกำเนิดมีลักษณะเป็นแท่งยาวเล็ก ๆ ขนาดเท่าไม้ขีดไฟ ฝังโดยใช้วิธีผ่ากรีดเป็นบริเวณเล็ก ๆ เพื่อเอาตัวยาใส่ใต้ชั้นผิวหนังบนต้นแขนด้านใน การฝังยาคุมจึงต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อลดผลข้างเคียงจากแผลบริเวณที่ฝัง โดยสามารถเริ่มฝังยาคุมกำเนิดได้ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก เนื่องจากยาฝังคุมกำเนิดจะมีผลต่อการคุมกำเนิดทันทีเมื่อฝังภายในวันที่ 1-5 ของช่วงมีประจำเดือน หากอายุไม่เกิน 20 ปี สามารถขอรับการฝังยาคุมได้ฟรีตามนโยบายของรัฐ ดังนั้น เมื่อต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ สามารถเข้ารับการฝังยาคุมได้เลย ยกเว้นกรณีต่อไปนี้
- มีความเสี่ยงว่าอาจตั้งครรภ์ ควรตรวจให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่
- มีอาการเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ เนื้องอก หลอดเลือดอักเสบหรือมีลิ่มเลือดอุดตัน
ฝังยาคุมกำเนิดเมื่ออายุน้อย กับผลกระทบต่อร่างกาย
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้เมื่อฝังยาคุมกำเนิดคือ ประจำเดือนมาผิดปกติหรือไม่มาเลย สภาพอารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ บวมน้ำง่ายขึ้น และเนื่องจากมีผลต่อฮอร์โมนเพศจึงอาจเกิดสิวง่ายขึ้นด้วย แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หากดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีก็จะช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักขึ้นง่ายอีกด้วย สำหรับผู้ที่ตัดสินใจฝังยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อย แล้วคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน ๆ ต้องระวังผลต่อสุขภาพดังต่อไปนี้
1.โอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
หากเมื่อไรที่พร้อมต่อการมีบุตร เมื่อนำยาฝังคุมกำเนิดออกสามารถตั้งครรภ์ได้เลย ไม่ได้มีผลทำให้มีภาวะมีบุตรยากหากฝังยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ทั้งนี้ มีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่เป็นอัตราที่ต่ำมาก หากตั้งครรภ์ระหว่างช่วงที่ฝังยาคุมกำเนิดก็มีโอกาสเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ แต่ความเสี่ยงต่ำ ควรตรวจสุขภาพร่างกายว่ามีความเสี่ยงหรือไม่
2.ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเล็กน้อย
ฮอร์โมนในตัวยาฝังคุมกำเนิดส่งผลต่อการสร้างมวลกระดูกในร่างกาย ทำให้มวลกระดูกลดลงเล็กน้อย แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนแต่อย่างใด ควรทานอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกอย่างสม่ำเสมอ
3.อัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมยังไม่แน่ชัด แต่ควรระวัง
การฝังยาคุมเป็นสิ่งต้องห้ามในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม แต่ไม่เกี่ยวกับการฝังยาคุมกำเนิดโดยตรงเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี และดูแลสุขภาพร่างกายไม่ให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น
การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมีวินัยในการรับผิดชอบตนเอง โดยการป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ รักษาสุขอนามัยทางเพศอย่างถูกต้อง และไม่ว่าจะเลือกคุมกำเนิดด้วยการฝังยาคุม หรือวิธีใดก็ตาม การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ย่อมดีต่อสุขภาพองค์รวมในระยะยาว