Content Writing 101 : Ep.3
ประเด็นที่น่าสนใจ
|
ในเขียนเล่าเรื่องอย่างไรให้โดนใจคนจนต้อง Like Share และ Follow EP. ที่แล้ว ผมได้ชวนคุยถึงประเด็นการเริ่มต้นสร้างคอนเทนต์เล่าเรื่อง หรือการสร้าง Storytelling สำหรับคนที่เป็น Content Creator มาในครั้งนี้ก็อยากจะคุยถึงเรื่องกระบวนการเขียน Content Storytelling กันครับ ซึ่งผมเห็นว่ามันมีความน่าสนใจไม่น้อย และน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่สนใจอยากเป็นนักเขียน หรือ ทำอาชีพ Content Creator
อยู่วงใน แต่มองแบบวงนอก
มาเริ่มกันที่สิ่งที่ Content Creator ต้องเจอกันก่อนดีกว่า จากประสบการณ์ที่ผมคลุกคลีอยู่กับงานเขียนเล่าเรื่อง ทำ Content เล่าเรื่อง เขียนบทความ SEO เขียนบทความเชิงข่าว อะไรทำนองนี้ ผมพบว่า Content Creator จะแบ่งความชัดเจนของงานตนเองออกเป็น 2 แง่มุมคือ
- เล่าเรื่องแบบเป็นคนวงใน – เป็นมุมมองของคนที่อยู่ด้านในเรื่องอะไรหรือประเด็นอะไรสักอย่าง มองแล้วถ่ายทอดออกไปสู่คนนอก อย่างเช่นคุณอยู่ในสายงาน Creative ทำงานโฆษณาสินค้า เวลาคุณเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาสินค้าคุณก็จะเขียนในมุมมองจากคนในวงการ ภาษาที่ใช้ก็จะใช้แบบที่เข้าใจกันในวงการ เป็นศัพท์เฉพาะ หรืออย่างคนที่เป็นนักการตลาด ก็จะเขียนเกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาด และมีแต่ศัพท์ของนักการตลาดเต็มไปหมด อย่างนี้เป็นต้น การเป็นคนวงในลึกๆแม้จะดีต่อการเขียนในเชิงลึก ที่คุณสามารถ Storytelling ประเด็นต่างๆในแบบที่ลึกซึ้งได้ แต่คุณรู้ไหมครับว่า มันมักจะทำให้เราลืมตัว เราจะลืมไปว่าคนอ่าน ไม่เหมือนเรา คนอ่านก็คือ คนอ่าน เขาไม่มีประสบการณ์ตรงอย่างเรา เรารู้เรื่องใดๆสักเรื่อง ผู้เขียนคอนเทนต์หรือคนเล่าอาจจะรู้สึกตื่นเต้น และอยากเขียน แต่คนอ่านจะไม่รู้สึกตื่นเต้นไปกับเราด้วย ฉะนั้น เขาก็จะไม่อยากอ่าน
- เล่าเรื่องแบบเป็นคนวงนอก – แบบนี้ก็คือการเขียนคอนเทนต์เรื่องราวทั่วไป คนเขียนไม่ต้องรู้ลึก เขียนในมุมของคนทั่วไป คือ รู้เท่า ๆ กับคนทั่วไป อย่างการเขียนบทความ SEO หรือการเขียนเล่าเรื่องอะไรที่คุณไปเจอมาสักอย่าง ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องที่เขียนออกมาย่อมจะไม่หวือหวา ขาดความน่าสนใจในเชิงลึก คือ งานเขียนที่เขียนออกมาจะไม่มีคุณค่าหรือมูลค่าอะไรมาก แต่คนทั่วเข้าใจได้ ในขณะเดียวกันคนอ่านก็อาจจะไม่อ่านด้วย เพราะมองว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่รู้อยู่แล้ว
เมื่อมุมมองและสถานะของการเป็น Content Creator มี 2 มุมมองแบบนี้ จึงทำให้โจทย์ของการเป็นนักเล่าเรื่องมีความยากและเข้มข้นขึ้น สิ่งที่คนจะเขียนเล่าเรื่องต้องตีให้แตกก็คือ สัดส่วนที่ลงตัวของการเล่าเรื่องแบบวงในและวงนอกอยู่ตรงไหน สำหรับผมนะครับ ผมใช้วิธีเตือนตนเองด้วยนิยามที่ว่า
ต้องเป็นคนวงในที่มองทุกสิ่งทุกอย่างด้วยสายตาคนวงนอกเสมอ
นั่นหมายความว่า ผมจะต้องสามารถเขียนเรื่องทั่วๆไปในเชิงลึกได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำจริงได้ยากมาก จริงไหมครับ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เราไปถึงจุดนั้นได้ยาก ทั้งเรื่องของข้อมูล และเวลาการทำงาน ซึ่งปัจจุบันเราต้องทำแข่งกับเวลา คนอ่านหรือลูกค้าเขาไม่เคยต้องการได้อะไรช้าๆ เราจึงต้องพยายามฝึกตัวเองให้ทำให้ได้ เหนือข้อจำกัดหลายๆอย่าง นี่คือวิธีการทำงานของผมครับ ซึ่งคุณอาจจะมีวิธีอะไรที่ดีกว่าผมก็ได้ ที่ผมยังค้นไม่พบหาไม่เจอ หากใครมีเทคนิคที่ดีก็ช่วยแชร์ความรู้มาหาผมบ้างนะครับ จะได้ประดับความรู้อันน้อยนิดของผมไว้
ทัศนคติที่ต่างกันของ คนเขียน VS คนอ่าน
การเขียนคอนเทนต์สัก 1 เรื่อง สำหรับคนเขียนแล้ว อาจจะต้องผ่านการอ่าน การดู การฟัง การคิด วิเคราะห์กลั่นกรองมาอย่างยากเย็น กว่าจะออกมาเป็นงานเขียนสักเรื่องหนึ่ง หากเป็นบทความก็อาจจะใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมง บางเรื่องราวอาจเป็นวัน และบางเรื่องราวอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ นี่คือสายตาและความรู้สึก รวมถึงกระบวนการทำงานของ Content Creator ที่เกิดขึ้นในสายอาชีพนี้ แต่…
มุมมองของคนอ่าน ที่เปิดสมาร์ทโฟนขึ้นมา แล้วมีคอนเทนต์ให้อ่าน 30 – 40 เรื่อง มีคลิปให้ดูเป็น 100 มี podcast ให้ฟังอีกไม่รู้เท่าไหร่ เพียงแค่รูดนิ้วผ่านหน้าจอ ก็มีคอนเทนต์ให้เสพหลายรูปแบบตั้งแต่เรื่องการเมือง ไปยังเรื่องการมุ้ง
คำถามที่น่าสนใจ จากมุมมองและสถานะที่ต่างกันอยู่ตรงนี้ครับ
ทำไมคนอ่านเขาต้องมาอ่านงานเขียนที่เราใช้เวลาครึ่งวันหรือหนึ่งสัปดาห์ในการเขียนด้วย
คนทำ Content ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ต่างก็มักจะมองว่าผลงานของตนเองมีคุณค่ามากมาย จนบางทีมีคุณค่าเกินเงินเดือนที่ได้ด้วย เพราะคุณเป็นคนทำและสร้างมันกับมือ คุณคลุกคลีอยู่กับมัน คุณจึงเห็นคุณค่าและตีราคาว่ามันมีความหมายมาก เหมือนคอนเทนต์หนึ่งมันสามารถเป็นผลงานที่เราภูมิใจ ไม่ว่าจะเปิดกลับไปอ่านไปดูอีกกี่ครั้งก็รู้สึกดี แต่สำหรับคนอ่านแล้ว พอเขาอ่านจบ(หรืออาจจะไม่จบ) คุณค่าของคอนเทนต์คุณค่าของเรื่องเล่านั้นหมดไปทันทีที่เขาได้อ่าน บางคนยังอ่านไม่จบด้วยซ้ำก็ไม่ให้คุณค่าแล้ว นั่นยังดี บางคนแค่ชายตามองเท่านั้น แล้วรูดนิ้วบทความเราผ่านไปเลย
ทำให้ดีที่สุดก็พอ
นั่นคือความเป็นจริงครับ เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงบังคับใครให้มาอ่านเรื่องราวที่เราเขียนได้ แม้เราเองยังไม่ได้อ่านทุกเรื่องเลยจริงไหมครับ ฉะนั้น ถ้าคุณอยากต่ออายุคอนเทนต์ที่คุณบรรจงเขียนเล่าเรื่องของคุณ โดยการให้มีคน Like, Share และ Follow คุณจะต้องไม่ลืมมองเรื่องต่างๆที่คุณกำลังจะเล่าด้วยสายตาของคนวงนอกด้วย ต้องคิดด้วยว่าคนอ่านเขาจะ “in” ไปกับ “content” ของเราด้วยหรือเปล่า เรารู้ลึกได้ แต่ก็ต้องเขียนเล่าเรื่องให้มีช่องว่างมากพอที่เราจะไม่เขียนลึกจนเกินไป จนคนไม่เข้าใจ และสิ่งสำคัญอีกประการก็คือ ควรจะต้องรู้ด้วยว่าผู้คนหรือคนอ่านในแวดวงออนไลน์ของคุณกำลังอินไปกับเรื่องอะไร เขากำลังสนใจเรื่องอะไรกัน อะไรที่เป็นกระแส อะไรที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวด อะไรที่ทำให้พวกเขารู้สึกดี ลองมาดูตัวอย่างกันนะครับ
- กระแสของ BNK48 เรารับรู้ได้ว่าเรื่องนี้มีกระแสทั้งในแง่บวกและแง่ลบ บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ ซึ่งเราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งคนที่มี Emotion ในแง่ใดแง่หนึ่งกับประเด็นนี้ด้วย ไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรเราก็สามารถที่จะหยิบฉวยเอา Emotion ของสังคมตรงนี้มาเขียนเล่าเรื่องหรือ Storytelling ในแง่มุมที่ตนเองรู้สึกได้
- เรื่อง 13 หมูป่า เป็นเรื่องที่คนมีอารมณ์ร่วมเยอะมาก ในช่วงที่กำลังดัง แม้เราจะไม่มีอารมณ์ร่วมแต่เราก็สามารถที่จะหยิบจับ อารมณ์ร่วมของสังคมมา Storytelling หรือสร้างประเด็นเรื่องที่น่าเล่าใหม่ก็ได้
- เรื่อง BTS เสียบ่อย บัตรที่ใช้กับรถไฟฟ้า ไม่สะดวกและเกิดปัญหาบ่อย ประเด็นเหล่านี้อาจกระทบกับตัวคนกรุงเทพฯเต็ม ๆ และไม่ใช่แค่เรา คนกรุงเทพฯที่เป็นผู้ใช้บริการ ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เราก็สามารถหยิบจับประเด็นเหล่านี้มาเล่าเรื่องในอีกมุมมอง หรือเป็นตัวแทนสะท้อนความรู้สึกของคนในสังคม หากจะเรียกว่าเป็นปากเป็นเสียงแทนก็ได้
ถ้าคุณหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ หรือแม้ไม่น่าสนใจแต่สามารถหามุมมองที่น่าสนใจออกมาเขียนเล่าเรื่องได้ คอนเทนต์ที่คุณเขียนจะโดนใจคนอ่านและ ตามมาด้วยการต่ออายุบทความของคุณด้วย ยอด Like, share และ Follow แน่นอน คุยกันมาเสียยาว คงได้เวลาพักแล้วครับ ไว้คราวหน้าผมจะมาชวนคุยกับประเด็นที่น่าสนใจกันอีกนะครับ