สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทย ในเดือนเม.ย 61 ที่ผ่านมานั้นปรับเพิ่มขึ้น 0.79% อันเป็นผลจากราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อ 4 เดือนแรกจองปีนี้เพิ่มขึ้น 0.75% อย่างไรก็ดี ทั้งปียังคงคาดการณ์ว่าตัวเลขจะอยู่ที่ 0.7-1.7%

     นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ อัตราภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทยประจำเดือนเมษายน 2561 ตัวเลขอยู่ที่ 101.57 เมื่อเทียบกับปีก่อนในช่วงเดือนเดียวกันจะถือว่าสูงขึ้นถึง 1.07% และเงินเฟ้อที่เป็นอยู่นี้ถือว่าเกิดขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 แล้ว ตัวเลขล่าสุดนี้เป็นอัตราสูงสุดในรอบ 14 เดือน อีกทั้ง สูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2561 ก่อนหน้า 0.79%ทั้งนี้ ส่งผลให้ 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2551) เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.75% อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 0.7-1.7% และยังไม่มีการปรับเป้าหมายในขณะนี้

     เมื่อมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในประเทศไทยก็พบว่า  ราคากลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น 4.69% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 หมวดอาหารสด สูงขึ้น 0.49% โดยเฉพาะราคาผักสด สูงขึ้นเป็นเดือนที่ 5 เช่น มะนาว คะน้า แตงกวา ผักกาดขาว เป็นต้น นอกจากนี้การปรับขึ้นของหมวดเครื่องดื่ม ทั้งที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ก็ส่งผลด้วยเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีสินค้าบางชนิดที่ราคาปรับลดลง เช่น หมวดปศุสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ไข่ไก่ และหมวดเครื่องประกอบอาหาร น้ำตาลทราย น้ำมันพืช

     หากวิเคราะห์กันเฉพาะเดือนเมษายน 61 ที่ผ่านมาจะพบว่า สินค้า 422 รายการที่ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้ติดตามสถานการณ์ราคา มีสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงเพียง 71 รายการ และราคาสินค้าที่ปรับลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไขไก่ ข้าวสารเหนียว ปลาช่อน น้ำปลา น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า มีเพียง 112 รายการเท่านั้น นอกนั้น 239 รายการเป็นสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด เช่น ข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ ผักสด ผลไม้สด ปลาหมึกกล้วย กุ้งขาว ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

     อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์เงินเฟ้อในภาพรวมตอนนี้แล้ว คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นและมีโอกาสทั้งปีในอัตราที่ 1% เนื่องจากปัจจัยของราคาน้ำมันที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปัจจัยอื่นที่จะมีผล ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นมีผลต่อรายได้ของเกษตรกร และกระตุ้นการจับจ่ายซื้อสินค้า ประกอบกับเศรษฐกิจมีการขยายตัวและเป็นไปในทิศทางที่ดี