ทีดีอาร์ไอ ได้ทำการวิจัยภาพรวมเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ พบว่าสาขาอาชีพในภาคบริการมีโอกาสเติบโตได้อีก แรงงานภาคเกษตรกรรมมีการย้ายฝั่งเข้ามาสู่ภาคบริการมากขึ้น ส่วนอาชีพที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงก็คือ ครูอาจารย์
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการกลุ่มนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอให้ทัศนะภาพรวมของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยระบุว่า ข้อมูลต้นปี 2561 มีแรงงานภาคบริการจำนวนประมาณ 17 ล้านคนหรือมากกว่าร้อยละ 45.5 แสดงให้เห็นการเติบโตมากยิ่งขึ้นของธุรกิจบริการต่างๆ ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้จำนวนแรงงานด้านการบริการสูงขึ้น ก็มาจากการย้ายเข้ามาทำงานบริการของแรงงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแรงงานภาคเกษตรย้ายมาทำงานด้านการบริการไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน
เมื่อมองเจาะลึกลงไปถึงการศึกษาและคุณภาพของแรงงาน จะพบว่ามีอะไรหลายอย่างที่ขัดแย้งกัน อย่างระดับวุฒิการศึกษามาตรฐานของแรงงานภาคบริการ โดยปกติจะตั้งมาตรฐานอยู่ที่ปริญญาตรี แต่ในความเป็นจริงพบว่า แรงงานในภาคบริการปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่มีภูมิความรู้และวุฒิการศึกษาแค่ระดับประถมเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ถึงประมาณ 12 ล้านคนหรือร้อยละ 70 เลยทีเดียว สาขาอาชีพที่แรงงานมีการศึกษาค่อนข้างดีก็จะเป็นท่องเที่ยวและโรงแรม รวมไปถึงการค้าส่งค้าปลีก รวมถึงแผนกช่างซ่อมบำรุงต่างๆ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ สาขาอาชีพที่ต้องพึ่งพาสมรรถนะความเป็นไทย (Thainess) บางสาขาบริการมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ทำให้เกิดข้อจำกัดทางรายได้ คือ รายได้ไม่สอดคล้องกับความสามารถ ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่ามาตรฐานงาน สาขาการเป็นตัวกลางและให้บริการทางการเงินเป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกค่อนข้างมากและชัดเจนที่สุด การรุกคืบเข้ามาของเทคโนโลยี และ Fintech ทำให้แรงงานในสาขานี้ถูกปรับลดจำนวนลงอย่างมาก หากใครปรับตัวไม่ได้ก็ต้องถูกบีบให้ลาออกในที่สุด
อีกหนึ่งสาขาที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ สาขาอาชีพที่เคยมั่นคงอย่างครูอาจารย์ กลายเป็นสาขาอาชีพที่อ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในยุคไทยแลนด์ 4.0 ครูอาจารย์ในยุคนี้ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอน 2 เรื่อง คือ
- ไม่มีความรู้ที่ทันสมัยเพียงพอที่จะสอนเด็กนักเรียนและนักศึกษาให้ทันยุคทันสมัย (ในศตวรรษที่ 21) อาจจะมีบางส่วนต้องลาออกไป
- ถึงแม้ครูอาจารย์จะปรับตัวได้ดีแต่ไม่มีเด็กนักเรียนนักศึกษาให้สอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กเข้าเรียนลดลงจากที่เคยเข้าเรียนชั้นป.1 ไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านคนปัจจุบันเหลือเพียง 0.7 ล้านคนเศษเท่านั้น ผลต่อเนื่องก็คือจำนวนเด็กต่อชั้นเรียนในระดับ สพฐ หรือนักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยบางสาขาวิชามีเด็กลดลงและ/หรือไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนแบบเดิมๆแต่ปรับเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์(ในอนาคต)
การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้ปริมาณค่าเล่าเรียนและเงินอุดหนุนมีไม่พอจ่ายเงินเดือนครูอาจารย์และค่าดูแลอาคารสถานที่ในภาวะการแข่งขันสูง ในที่สุดก็ต้องปิดสาขาวิชาและ/หรือต้องปิดสถานศึกษา ต้องยกเลิกการจ้างครูอาจารย์ ซึ่งส่วนนี้น่าจะเกิดก่อนกับการศึกษาเอกชนที่ปรับตัวเองไม่ได้ในทุกระดับการศึกษา
ผลการศึกษาวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นหลายอย่าง ไม่ว่าโลกจะหมุนเปลี่ยนไปอย่างไร ก็เหมือนไทยเราจะยังไม่ก้าวไปข้างหน้ามากนัก เพราะเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยยังคงเป็นอาชีพที่ “คนทำไม่ได้รวย คนรวยไม่ได้ทำ” แรงงานหลายๆ สาขาๆ ยังมั่นใจในอาชีพของตนเองเพราะค่านิยมของสังคมแบบเดิมๆ ที่เคยมองว่าอาชีพบางอาชีพ โก้หรูดูมีเกียรติและมั่นคง หารู้ไม่ว่าโลกกำลังสลัดค่านิยมยุคเก่าออกไป โดยที่พวกเราไม่ทันตั้งตัวเลย