HIGHLIGHTS:“ความกตัญญูกตเวทีคือสภาพจิตที่รับรู้ความดี และยินดีที่จะกระทำความดีโดยศรัทธามั่นใจ คนมีกตัญญูจึงไม่ลบล้างทำลายความดีและไม่ลบหลู่ผู้ที่ได้ทำความดีมาก่อน หากเพียรพยายามรักษาความดีทั้งปวงไว้ให้เป็นพื้นฐานในความประพฤติปฏิบัติทุกอย่างของตนเองเมื่อเต็มใจและจงใจกระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความดีดังนี้ ก็ย่อมมีแต่ความเจริญมั่นคงและรุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งสำหรับนักพัฒนา และผู้ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าทุกคน” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการวันกตัญญูกตเวที สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2526 |
เมื่อถึงวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี พสกนิกรชาวไทยย่อมหลอมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวในวันนั้นอยู่เสมอ แม้วันนี้พ่อหลวงของปวงชนชาวไทยจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีจะเป็นวันที่ประชาชนชาวไทยจะน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านตราบนิจนิรันดร์ และนี่อาจเป็นสิ่งเดียวที่พวกเราเหล่าลูกน้อยจะพอทำเพื่อพ่อได้บ้างอันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพ่อหลวง ตามที่พ่อได้สอนและทิ้งรอยทางไว้ให้เราได้เดินตาม
พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจในเรื่องความกตัญญู
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นตัวอย่างที่ดีของความกตัญญู ทรงมีความกตัญญูต่อพระราชมารดาของพระองค์เสมอ เมื่อสมเด็จย่าจะเสด็จไปที่ใด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงประคองสมเด็จย่าด้วยพระองค์เองเสมอ อันที่จริงแล้วมีทหารองครักษ์ พยาบาลแวดล้อมคอยประคองสมเด็จย่าอยู่ แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตรัสว่า
“ไม่ต้อง….คนนี้เป็นแม่ของเรา เราประคองเอง”
ครั้งหนึ่งที่ทั้งสองพระองค์อาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ตอนเช้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชออกมาพบพยาบาลกำลังเข็นรถสมเด็จย่าออกมารับลมหน้าห้อง พระองค์ก็รีบเข้าไปเข็นรถเข็นแทนพยาบาล ทหารมหาดเล็กก็ทูลว่า มีพยาบาลเข็นอยู่แล้ว พระองค์ก็รับสั่งว่า
“แม่ของเรา ทำไมต้องให้คนอื่นเข็น เราเข็นเองได้”
ทุกครั้งที่พระองค์ท่านไปหาสมเด็จย่า พระองค์ท่านจะต้องเข้าไปกราบที่ตักสมเด็จย่า สมเด็จย่าก็จะสวมกอดพระองค์ แล้วก็หอมพระพักตร์ เมื่อถึงเวลาเสวยพระกระยาหารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็จะทรงเสวยพระกระยาอาหารกับสมเด็จย่า หากจะเอ่ยความคิดของผู้เป็นแม่ ลูกมาเยี่ยมก็ดีใจแล้ว นี่ลูกมานั่งกินข้าว ตักกับข้าวให้หยิบผักให้เป็นที่น่าปลื้มใจยิ่ง ในยามที่สมเด็จย่าท่านทรงประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงไปเยี่ยมแม้จะเป็นเวลา ตีหนึ่ง ตีสอง ทรงเฝ้าอาการของสมเด็จย่าวันละหลายๆชั่วโมง และจนกระทั่งก่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีนาถจะสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเฝ้าพระอาการอาพาธทั้งคืน ทรงจับมือสมเด็จย่าและกอดสมเด็จย่า ปรนนิบัติพระองค์จนกระทั่งสมเด็จย่าหลับ เมื่อพระองค์เสด็จกลับถึงวัง มีโทรศัพท์แจ้งว่าสมเด็จย่าสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรีบเสด็จกลับไปศิริราช ทรงทอดพระเนตรสมเด็จย่าที่นอนหลับตาอยู่บนเตียง พระองค์ตรงเข้าไปคุกเข่า และกราบลงที่น่าอกของสมเด็จย่า ทรงซบหน้านิ่งอยู่นาน แล้วค่อยๆเงยพระพักต์ขึ้น ทรงตรัสว่า
“ขอหอมหัวใจแม่เป็นครั้งสุดท้าย”
ทรงทอดพระเนตรเห็นหวีปักอยู่ที่ผมสมเด็จย่า พระองค์ทรงจับหวี และค่อยหวีผมให้แม่ พระองค์หวีซ้ำแล้วซ้ำเล่า หวีเพื่อให้สมเด็จย่าสวยที่สุด นี่คือภาพความประทับใจแห่งความกตัญญูของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
กตัญญูคือคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีก็คือผู้ที่มีจิตใจที่ดี ข้าพเจ้าเชื่อว่าความกตัญญูนี้มีอยู่ในทุกคนเพียงแต่จะมีมากมีน้อยและแสดงออกเพียงไรเท่านั้น คนเราย่อมมีชั่วดี ในคนหนึ่งคนก็ย่อมมีจุดที่ดีและจุดที่ไม่ดี บางคนอาจจะแสดงภาพลักษณ์ออกมาในแง่ไม่ดีแต่จริงๆแล้วเป็นคนมีความกตัญญูมากนั่นก็ถือว่าเป็นส่วนที่ดีของคนๆนั้นไป ความกตัญญูนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์กับมนุษย์ หรือสัตว์กับสัตว์เท่านั้น แต่ความกตัญญูนั้นก็ขึ้นข้ามสายพันธุ์ก็ได้ เช่น คนกับสุนัข เมื่อเราให้อาหารมันมันก็ตอบแทนเราโดยการเฝ้าบ้านให้ เป็นการแสดงความรู้บุญคุณ นี่ก็เป็นความกตัญญูแบบหนึ่งเช่นกัน
ขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวของปราชญ์จีน ท่านขงจื้อที่ได้เคยกล่าวไว้กับลูกศิษย์ของตนเกี่ยวกับเรื่องความกตัญญูว่า
อันร่างกาย เส้นผม และผิวหนังของคนเรานั้น ย่อมมีที่มาจากบิดาและมารดาของตนๆ ทุกคนจึงต้องคอยระมัดระวังป้องกันรักษา และไม่กล้าที่จะทำอันตรายให้ได้รับบาดเจ็บหรือสูญสลาย นี่แลเป็นบ่อเกิดแห่งความกตัญญูกตเวทีเมื่อร่ายกายเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับและได้ประกอบการงานในเวลาต่อมา ก็ดำรงตนโดยชอบอยู่ในขอบข่ายแห่งธรรมะ พร้อมกับได้ประกอบคุณงามความดี และสร้างชื่อเสียงอันดีงามจนเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วไปตลอดจนถึงชนรุ่นหลัง ซึ่งสิ่งดังกล่าวมาแล้วนี้ย่อมเป็นการประกาศเกียรติคุณของผู้เป็นบิดาและมารดาของตนๆ นี่แลเป็นที่สุดแห่งความกตัญญูกตเวทีอันความกตัญญูกตเวทีนั้น ในเบื้องต้นย่อมอยู่ที่การสนองคุณปรนนิบัติดูแลบิดาและมารดาของตนๆ ให้ท่านมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขสบาย ในเบื้องกลางย่อมอยู่ที่การถวายการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินให้พระองค์ได้ทรงปกครองแผ่นดินอย่างสงบร่มเย็น และในเบื้องปลายย่อมอยู่ที่การครองตนให้อยู่ในคุณงามความดีจนปรากฏนามแก่ชนทั่วไปตลอดจนชนรุ่นหลังดังนี้