ตำนานนมวัวแดง จากสายพระเนตรอันยาวไกล สู่แบรนด์ที่คนไทยภูมิใจ “นมไทย-เดนมาร์ค”

thai-denmark

Brand storytelling | แบรนด์นมไทย – เดนมาร์ค


 

ปี พ.ศ. 2503 ชายหญิงคู่หนึ่งได้เดินทางไปที่ประเทศเดนมาร์ค โดยตั้งใจว่าจะไปท่องเที่ยวและเก็บเกี่ยวประสบการณ์อะไรบ้างอย่างในชีวิต แต่แล้วคนทั้งคู่ก็ต้องไปสะดุดใจกับบางสิ่งนั่นคือ ที่เดนมาร์คในขณะนั้นมีกิจการโคนมที่เจริญเติบโต และมีความน่าสนใจมาก สามารถที่จะดำเนินกิจการเป็นแหล่งอาหารของประเทศและยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ด้วย ชายหญิงคู่นั้นเกิดแรงบันดาลใจและไม่รอจึงหยุดโครงการท่องเที่ยวในฝันและเปลี่ยนมาเป็นโครงการเดินตามแรงบันดาลใจ เร่งเข้าไปศึกษาขอความรู้จากผู้ประกอบการโคนมในเดนมาร์คทันที

หลังจากชายหญิงคู่นั้นได้รับความรู้และแนวทางในการดำเนินกิจการฟาร์มโคนมแล้ว ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยและได้เผยแพร่แนวทางและองค์ความรู้ในการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรไทยจนกลายเป็นหนึ่งอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรไทยมาจนถึงทุกวันนี้

tsr5
เครดิตภาพจาก imageholidaythailand.wordpress.com

ชายหญิงผู้มีคุณูปการกับเกษตรกรไทยและคนไทยทั้งหลายคู่นี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีสายพระสายพระเนตรยาวไกล และทรงเล็งเห็นว่า การเลี้ยงโคนมจะมีความสำคัญกับคนไทย รวมถึงเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก ถึง 3 ทาง คือ

  • แง่ของการส่งเสริมอาชีพ ที่จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องของเกษตรไทย ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพของตนเองมากขึ้น ไม่ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าไปทำไร่เลื่อนลอย มีแนวทางในการประกอบอาชีพแบบเกษตรพอเพียงสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ จากจุดนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของอาชีพ “เกษตรกรโคนม” ซึ่งนับเป็นอาชีพพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน
  • แง่ของการเป็นอาหารคุณภาพ ซึ่งคนไทยจะได้มีผลิตภัณฑ์นมคุณภาพที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดีต่อสุขภาพคนทุกวัยไว้ใช้ดื่มกินในราคาที่ไม่แพง
  • แง่ของเศรษฐกิจ คนไทยจะมีสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ นั่นคือ วัวนม ที่สามารถจะสร้างรายได้ต่อยอดให้กับเกษตรกรทำให้รายได้อีกทาง เกิดอาชีพใหม่ๆ เป็นทางเลือกสำหรับคนไทย
ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค
พิธีเปิดฟาร์มโคนม และศูนย์ฝึกอบรมไทย – เดนมาร์ค ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี (เครดิตภาพจากสยามรัฐ)

ทั้งสองพระองค์ได้ทรงประสานความร่วมมือกับทางรัฐบาลเดนมาร์ค และในเวลาต่อมารัฐบาลเดนมาร์คและสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของเดนมาร์ค ก็ได้น้อมเกล้าฯถวายโครงการเลี้ยงโคนม เมื่อทั้งสองพระองค์เมื่อเสด็จนิวัติกลับประเทศไทย โดยได้มีการส่งผู้เชี่ยวชาญ มาสำรวจพื้นที่ในประเทศไทยเพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการจัดตั้งฟาร์มโคนม ซึ่งในที่สุดแล้วก็พบว่า พื้นที่ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นบริเวณพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการจัดตั้งฟาร์มโคนมแห่งแรกในประเทศไทย เพราะเป็นที่ราบเชิงเขา มีแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างสมบูรณ์ อากาศค่อนข้างเย็นสบายกว่าพื้นที่อื่นตลอดทั้งปี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ฟาร์มโคนมแห่งแรกของประเทศไทยในปี 2505 ภายใต้ชื่อว่า

ฟาร์มโคนมไทย – เดนมาร์ค

อันเป็นชื่อที่สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นของโครงการและยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีของสองประเทศอีกด้วย การสร้างแบรนด์นมวัวแดงเริ่มต้น ณ จุดนี้และในเวลาต่อมา จึงถูกเรียกว่า “นมไทย – เดนมาร์ค” นั่นเอง

ปี 2508 ฟาร์มโคนมไทย – เดนมาร์คเริ่มมีขยับขยายจากอาชีพพระราชทานเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ในการดำเนินกิจการด้านการเลี้ยงโคนมของฟาร์มโคนมไทย – เดนมาร์ค ในช่วงแรกได้มีการนำเข้าโคนมพันธุ์“เรดเดน” (Reddane) จากเดนมาร์คเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย โคนมสายพันธุ์นี้ นับเป็นโคนมสายพันธุ์แรกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นโคที่มีขนาดตัวใหญ่ ให้ปริมาณน้ำนมได้เยอะและสามารถที่จะมีน้ำนมให้ติดต่อกันได้เป็นระยะเวลานาน เมื่อมีโคนมและมีน้ำนมมากเพียงพอแล้ว ก็เริ่มพัฒนาไปสู่กิจการโคนมที่ใกล้เคียงกับระบบอุตสาหกรรม โดยมีการตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์นมสดพาสเจอไรส์ นำน้ำนมดิบมาแปรรูปผ่านกระบวนการพาสเจอไรส์แล้วบรรจุขวดแก้วในช่วงแรก และต่อมาก็ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นถุง เมื่อปี 2511

โคนมพันธุ์ “เรดเดน” นับว่าเป็นโคนมนำเข้าจากเดนมาร์คสายพันธุ์แรกของไทย ฟาร์มโคนมไทย – เดนมาร์ค จึงได้นำภาพของโคนมพันธุ์ “เรดเดน” นี้มาเป็น Logo ของแบรนด์ สัญลักษณ์วัวแดงที่ติดอยู่ที่ข้างกล่องนมไทย – เดนมาร์คก็เริ่มต้น ณ จุดนี้ และยังปรากฎอยู่ที่ข้างกล่องงผลิตภัณฑ์ของไทย -เดนมาร์คมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดย Logo วัวแดงนี้เป็นภาพของวัวสองตัวที่เป็นแม่ลูกหันหน้าเข้าหากัน เป็นการสื่อถึงสายใยแห่งความผูกพัน อันสะท้อนภาพลักษณ์ของการดำเนินงานของฟาร์มโคนมไทย – เดนมาร์ค ที่ดำเนินกิจการอย่างมีสายใยและความสัมพันธ์กับเกษตรกรโคนมในประเทศไทยเพื่อร่วมกันผลักดันแบรนด์นมไทย – เดนมาร์ค ให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนนั่นเอง นี่คือจุดกำเนิดของตราสินค้า “ไทย – เดนมาร์ค”

thai-denmark-file

ในปี 2514 กิจการของฟาร์มโคนมไทย – เดนมาร์ค ได้ถูกขยายพัฒนาจัดตั้งออกมาเป็นรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ โดยเป็นกิจการที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้ชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” โดยมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและบริหารจัดการในเรื่องของอุตสาหกรรมนมของประเทศไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตภัณฑ์นมนั้นมีอายุในการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น ซึ่งทาง อ.ส.ค. ต้องการให้ผลิตภัณฑ์นำสามารถเก็บรักษาและมีอายุที่ยาวนานขึ้นจึงได้มีการพัฒนาไปอีกหนึ่งขั้น โดยนำระบบปลอดเชื้อ Aseptic Filling เข้ามาใช้จนทำให้เกิดผลิตภัณฑ์นม UHT ขึ้นมาและบรรจุลงในกล่องสามเหลี่ยมรูปทรงพีระมิดสามารถเก็บได้นานขึ้น เมื่อปี 2519 และใช้เรื่อยมาจนถึงปี 2522 จากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์อีกครั้งมาเป็นกล่องทรงสี่เหลี่ยมอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในวันนั้นจึงทำให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจในแบรนด์ไทย – เดนมาร์ค มาจนถึงปัจจุบัน ในวันนี้ผลิตภัณฑ์ของ อ.ส.ค. ได้ถูกพัฒนาสานต่อจากแนวทางที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ จนสามารถแบ่งสายการบริหารจัดการได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์นมเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งทำการตลาดภายใต้แบรนด์นมไทย – เดนมาร์ค อันประกอบไปด้วยนม UHT โยเกิร์ตพร้อมดื่มแบบ UHT นมบรรจุถุงแบบคลาสสิก ครีมนมพาสเจอไรส์ และชีส อีกกลุ่มคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อเด็กๆและเยาวชน สิ่งที่แบรนด์นมไทย – เดนมาร์คได้ให้กับคนไทยเอาไว้ก็คือ “ผลิตภัณฑ์นมโคแท้ 100% ไม่ผสมนมผง” เป็นผลิตภัณฑ์อันมากคุณค่าที่ครองใจคนไทยและคนไทยยังคงเชื่อมั่นเสมอมา