เรื่องราวธุรกิจสนุก ๆ ในแบบ Storytelling บิดเหลี่ยมเปลี่ยนมุมเพื่อไอเดียใหม่ (2)

เรื่องราว Storytelling เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการทำงานของคุณเศรษฐา ทวีสิน CEO ของแสนสิริ ที่ไม่เคยมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

business-storytelling-ep-2

เป็นตอนที่ 2 แล้ว สำหรับเรื่องราว Storytelling ในวงการธุรกิจ ใครที่ยังไม่ได้อ่านเรื่องราวตอนแรก ก็ลองย้อนกลับไปอ่านกันได้ ใน EP.2 นี้ เราก็ยังมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจสำหรับคนทำธุรกิจมานำเสนออีกเช่นเคย ซึ่งน่าจะเป็นไอเดียและเป็นประโยชน์ให้ผู้ที่ทำธุรกิจทุกท่านสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้สำหรับตนเองได้ ครั้งนี้เราจะมา Storytelling ถึงใครมาติดตามกันเลย

แม้คุณจะไม่ได้อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่เชื่อเหลือเกินว่า คุณคงต้องเคยได้ยินแบรนด์ “แสนสิริ” กันมาบ้างแน่นอน นี่คือ แบรนด์อสังหารายใหญ่ระดับประเทศของบ้านเรา ในครั้งนี้เราจะขอนำเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบรนด์แสนสิริ มา Storytelling ให้ทุกคนได้รับทราบกัน และคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อทุกคนแน่นอน

การเป็นผู้บริหาร หัวหน้าผู้นำองค์กร ไม่ใช่แค่จะต้องมีฝีมือในการบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ในธุรกิจเท่านั้น แต่จะต้องมีวิสัยทัศน์ในการทำงานด้วย ต้องเป็นคนที่ไม่มองข้ามสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยในธุรกิจ ไม่ว่ารายละเอียดนั้นจะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยเพียงไรก็ตาม คุณเศรษฐา ทวีสิน นับเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการบริหารงานของคุณเศรษฐาว่า เขาจะเป็นคนที่ละเอียดในการทำงานมาก ทุกไซต์งานเขาจะเป็นคนที่ลงไปตรวจงานดัวยตัวเองเสมอ และการไปตรวจไซต์งานของคุณเศรษฐาไม่ใช่เป็นการไปตรวจพอเป็นพิธี แต่เขาตรวจอย่างละเอียด โดยจะไปตรวจทุก ๆ วันเสาร์-อาทิตย์ ที่ว่างเว้นจากการประชุมและงานบริหาร ซึ่งการลงตรวจที่ไซต์งานแต่ละวันคุณเศรษฐาจะไปตรวจงาน 7 – 8 ไซต์งานเลยทีเดียว

นอกจากจะทำแบบนี้เป็นประจำเพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างในแต่ละโครงการแล้ว คุณเศรษฐายังใช้ช่วงเวลานี้ในการหาจุดบอดข้อบกพร่องต่าง ๆ ของโครงการต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข รวมไปถึงนำมาเป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการของแบรนด์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอนาคตอีกด้วย

อ่านเรื่องราวที่เรานำมา Storytelling ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่า ก็ดูไม่มีอะไรน่าสนใจ คนเป็นหัวหน้าก็ต้องทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ไม่เห็นแปลก แต่ไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่เราว่าน่าสนใจก็อยู่ตรงการใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ของคุณเศรษฐาในการออกตรวจไซต์งานนี่เอง

 

ที่ไซต์งานก่อสร้างมักจะมีสนามหญ้า ซึ่งปกติเวลาลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อหรือนักลงทุน เวลาจะมาดูโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ก็มักจะมาดูช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เสาร์-อาทิตย์ นี่เป็นเหตุผลแรกที่คุณเศรษฐาเลือกที่จะใช้เวลามาดูไซต์งานวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อที่จะได้มารับฟังความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าด้วยตัวเอง ประการต่อมาเมื่อคุณเศรษฐารู้แล้วว่าลูกค้าจะมาดูงานในวันเสาร์-อาทิตย์ การเตรียมต้อนรับลูกค้าจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมพร้อม นั่นคือ จะต้องมีการเตรียมพร้อมพื้นที่เพื่อให้ทัศนยีภาพของโครงการสามารถทำให้ลูกค้าจินตนาการออกและมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าต่อไปในอนาคตได้หลังจากโครงการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย และสิ่งที่ช่วยได้ในเรื่องนี้ก็คือ การตระเตรียมทัศนยีภาพที่สนามหญ้าของโครงการ

 

ลูกค้าเข้าเยี่ยมโครงการในวันเสาร์-อาทิตย์ หลาย ๆแห่งอาจเลือกวิธีการเตรียมความพร้อมก่อน 1 วันก่อนลูกค้ามา คือ จะตัดหญ้าวันศุกร์ก็ได้ แต่คุณเศรษฐาไม่เลือกทำเช่นนั้น เขาจะบัญชาการให้ลูกน้องทำการตัดหญ้าปรับปรุงพื้นที่ในวันพุธ เพื่อให้หญ้ามีการงอกขึ้นใหม่ในวันเสาร์พอดี ซึ่งหญ้าที่กำลังงอกขึ้นใหม่นั้นจะดูสดและมีความสวยงาม สามารถปรับทัศนียภาพของพื้นที่ให้เกิดความสดชื่นน่ามองได้ เป็นวิธีคิดอีกแบบที่มองข้ามไปอีกสเตปหนึ่ง ไม่มองว่าจะทำให้รก แต่กลับมองเห็นว่าสนามหญ้าที่กำลังมีหญ้างอกนั้น จะทำให้ลูกค้าเกิดความต้องตาต้องใจและสามารถจินตนาการออกได้ว่า เมื่องานก่อสร้างเสร็จบรรยากาศโดยรวมจะเป็นอย่างไรบ้าง

คุณเศรษฐามองว่า หากมีการตัดหญ้าในวันศุกร์ พอถึงวันเสาร์ลูกค้ามาเยี่ยมไซต์งาน ก็จะพบแต่สนามหญ้าที่มีแต่หญ้า แห้ง ๆ เตียน ๆ โล่ง ๆ ทัศนียภาพพื้นที่แบบนี้ไม่เอื้อต่อการจินตนาการของลูกค้า อธิบายอะไรไปให้ลูกค้าฟังจนเสียงแห้ง ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขามองเห็นภาพได้ สู้ใช้วิธีการยืมเอาธรรมชาติมาสร้างจินตนาการไม่ได้ การยืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สดใส จะทำให้คนเราสามารถมองออกว่า เมื่อบ้านอยู่ตรงนี้ ห้องอยู่ตรงนี้ มองมาจะเห็นอะไร บ้าง ทำให้ลูกค้าสามารถเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้แม้ตัวตึกจะยังสร้างไม่เสร็จเลยก็ตาม

 

นี่คือ วิสัยทัศน์และวิธีการทำงานของคนในระดับ CEO ที่มีความเป็นมืออาชีพสูงมาก เรื่องเล่านี้สะท้อนให้เราเห็นวิธีคิดของคนในระดับบริหารที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดจริง ๆ เขามีการจำลองตัวเองเป็นลูกค้า คิดในมุมของลูกค้าว่า ถ้าตัวเขาเป็นลูกค้า เขาจะต้องการอะไร ต้องการจะเห็นอะไร ต้องการจะได้อะไร ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้าม มองทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวว่ามีประโยชน์ สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองได้ บางคนอาจมองสิ่งนั้น ๆ ว่าไร้ค่า แต่คนในระดับหัวหน้า เขากลับมองว่ามีคุณค่าต่อธุรกิจอย่างยิ่ง ครั้งต่อไปเราจะมีเรื่องอะไรมา Storytelling กันอีกบ้าง รอติดตามกันนะ