ว่ากันว่าสรรพความรู้ของคนรุ่นใหม่ย่อมพัฒนาไปตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นหมายความว่า โดยทั่วไปแล้วความรู้ใหม่ย่อมมีคุณค่าหรือน่าเชื่อถือกว่าความรู้แบบเก่าที่ยังไม่พัฒนา แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อนมีงานวิจัยจากนอร์เวย์ระบุว่า คนรุ่นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาล้วนมีไอคิวลดลงจากคนรุ่นก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่สามารถสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่เราอยากมา Story Telling ให้คุณทราบกันในวันนี้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจ แร็กนาร์ ฟริช (Ragnar Frisch Centre for Economic Research) ในกรุงออสโล ของนอร์เวย์ ได้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องของไอคิวมนุษย์โดยเฉลี่ย พวกเขาพบข้อมูลใหม่ที่น่าตกใจ นั่นคือ ไอคิวของคนที่เกิดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉลี่ยแล้วลดต่ำลง โดยทีมวิจัยได้ทำการประมวลผลการทดสอบไอคิวของผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นข้าราชการในนอร์เวย์จำนวน 730,000 คน ที่เกิดในช่วงปี 1962 ถึง 1991 พบว่ากลุ่มคนที่ได้คะแนนสูงสุดคือกลุ่มที่เกิดในปี 1975 ส่วนกลุ่มปี 1991 ได้คะแนนต่ำที่สุด
ทางทีมวิจัยของนอร์เวย์เองก็ยังไม่ทราบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพียงแต่คาดเดาไปว่าปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้นมีหลายอย่าง ทั้ง
- เรื่องของการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
- ระบบและมาตรฐานการศึกษา
- ระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ดูจะแย้งกับ งานวิจัยที่ผ่านๆมา ที่เคยมีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งอันเป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการในต่างประเทศ ระบุว่า ประชากรโลกที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคะแนนการทดสอบไอคิวเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบแต่ละทศวรรษ ส่วนทางด้านทีมนักวิจัยนอร์เวย์ได้ชี้แจงว่า งานวิจัยฉบับดังกล่าวล้าสมัยและไม่อินเทรนด์แล้วจึงอาจใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีดอกเตอร์ โอเล โรเจอเบิร์ก ผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้ได้กล่าวว่า การมีไอคิวต่ำไม่ได้หมายถึงไม่ฉลาด เพราะบางทักษะของมนุษย์ก็ไม่สามารถวัดได้จากเกณฑ์ทดสอบไอคิวขั้นพื้นฐาน ฉะนั้น เรื่อนี้เป็นเพียงผลการศึกษาที่ทำให้ทราบข้อมูลใหม่เท่านั้น ไม่ได้ชี้วัดว่าคนรุ่นใหม่มีความฉลาดลดลงแต่อย่างใด และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม สาเหตุที่คนเรามีไอคิวลดลงนั้นเป็นไปได้หลายอย่าง ซึ่งผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชากรต่อไปในอนาคต
อ้างอิงจาก : usatoday