SCB แนะผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯจำเป็นต้องระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่ๆ และเร่งระบายหน่วยเหลือขายโดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม และต้องเร่งปรับกลยุทธ์รับมือผู้บริโภคยุค 4.0
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจอสังหาฯ ในขณะนี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากที่ได้ชะลอตัวมาพักใหญ่ คาดว่ามูลค่ายอดโอนที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวราว 7% ในปี 2018 โดยมีปัจจัยบวกทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม ขนาดครอบครัวที่เล็กลงเรื่อยๆ ประกอบกับความต้องการที่อยู่อาศัยในทำเล ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยออกมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังได้ชี้ให้เห็นว่าเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยของไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปดังนี้
1.ตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงเป็นตลาดใหญ่ แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบ
2.ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางฟังก์ชั่นการใช้งานของพื้นที่ภายในโครงการที่หลากหลาย
3.ผู้บริโภคอยากอยู่ใกล้แหล่งชุมชนเพิ่มเติมจากแค่ใกล้รถไฟฟ้า
4.smart home จะกลายเป็น new normal ในอนาคต
5.ผู้บริโภคจะมีการเปรียบเทียบข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นอีกและนิยมรูปแบบที่ล้ำหน้าขึ้น
แม้ว่าบ้านเดี่ยวจะยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่คอนโดมิเนียมจะยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ เพราะตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่มากกว่า ด้วยเรื่องทำเลและกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่ม Gen X และกลุ่มที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเบบี้บูมเมอร์ก็มีความต้องการคอนโดมิเนียมเพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลาย เช่น ภาระการดูแลที่อยู่อาศัยที่น้อยกว่า การซื้อเพื่อลงทุน และบางส่วนเป็นการซื้อให้บุตรหลาน
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือ ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความใส่ใจใน กับความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิต ประกอบอาชีพอิสระ และยอมรับการแชร์ในสังคมมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ร่วมในโครงการที่อยู่อาศัยมีผลต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทาง SCB จึงแนะผู้ประกอบการว่า ควรคำนึงถึงการออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานของพื้นที่ในโครงการที่หลากหลาย อย่างเช่นการมี co-working space และ co-recreation ในที่อยู่อาศัย ตลอดจนพื้นที่ที่จะสามารถรองรับการแชร์ในด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เช่น พื้นที่จอดรถยนต์ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วในเรื่องของทำเล ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามมุ่งเป้าไปที่ทำเลตามแนวรถไฟฟ้า SCB ชี้ให้เห็นว่า ทำเลที่ใกล้แหล่งชุมชนและสิ่งอำนวยความสะดวกก็สำคัญต่อผู้บริโภคไม่น้อยเหมือนกัน จึงอยากแนะให้ผู้ประกอบการอย่ามองแต่ทำเลตามแนวรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เพราะใช่ว่าทำเลตามแนวรถไฟฟ้าตะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ครบถ้วนเสมอไป ผู้บริโภคมีความต้องการให้มีสิ่งจำเป็นและสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหารและเครื่องดื่ม โรงพยาบาลและศูนย์บริการด้านสุขภาพ ศูนย์การค้า ตรงนี้จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและปรับกลยุทธ์ใหม่ ซึ่งแนวทางปรับกลยุทธ์มีดังนี้
1.ออกแบบโดยให้ความสำคัญต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เช่น universal design ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ขณะที่การออกแบบที่ตอบโจทย์ customization จะช่วยสร้างความแตกต่างในการแข่งขันเพื่อเจาะกลุ่ม niche market อย่าง luxury ที่มีศักยภาพซื้อสูง
2.หาพาร์ทเนอร์เพื่อพัฒนาสินค้า ถ่ายทอดความรู้ เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ โดยความร่วมมือทางธุรกิจสามารถสร้างได้หลายรูปแบบทั้งการหาผู้ร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาโครงการ mixed use ในโครงการที่มีศักยภาพสูงโดยเลือกองค์ประกอบของอสังหาริมทรัพย์ที่ลงตัวตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม หรือจับมือกับสตาร์ทอัพเพื่อนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการอยู่อาศัย เช่น สมาร์ทโฮมนอกจากนี้ การจับมือเพื่อสร้างแบรนด์ เช่น ความร่วมมือกับเชนโรงแรมชั้นนำยังช่วยเพิ่มมูลค่าของโครงการอีกด้วย
3.พัฒนาแพลตฟอร์มบริการหลังการขายใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและต่อยอดนำ Big data มาพัฒนาสินค้าและบริการ อย่างเช่นการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อรวบรวมบริการหลังการขาย หรือการใช้ประโยชน์จาก Big data ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคหรือข้อมูลปัญหาที่พบจากการให้บริการหลังการขายต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ผู้บริโภคมีความต้องการในอนาคตอีกด้วย
อ้างอิงจาก : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์