จริงอยู่ว่าเรื่องของสถานการณ์โควิดเป็นเรื่องที่น่าห่วงในตอนนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ ถึงแม้จะมีวัคซีนออกมาแล้วก็ตาม แต่กว่าจะทั่วถึงก็คงต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดีสักวันหนึ่งปัญหานี้ก็คงต้องจบไป สิ่งที่น่าห่วงกว่านั้นและดูเหมือนว่าคนไทยเราจะยังไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากนักก็คือ การเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่น่ากังวลอย่างมากของโลก มีหลาย ๆ ประเทศประสบปัญหาประชากรสูงวัยกันบ้างแล้ว ที่เห็นชัดเจนก็คือญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว
การที่ประเทศไหนขาดประชากรวัยแรงงานและคนหนุ่มสาว ก็เท่ากับว่าประเทศนั้นกำลังเดินไปสู่หายนะ เพราะเมื่อวัยพึ่งพิงมีมากกว่าวัยที่จะให้พึ่งพิง ก็เท่ากับว่าประเทศจะต้องรับภาระมากขึ้น สำหรับประเทศไทยเราเองหากมองย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน ประชากรในวัยหนุ่มสาวเรายังมีอยู่มากพอสมควร แต่ถ้ากลับมาดูในปัจจุบันนี้เราจะพบว่า สัดส่วนโครงสร้างประชากรนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก คนหนุ่มสาวลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ที่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้น เรากำลังอยู่ในยุคของสังคมผู้สูงอายุ และคนทำธุรกิจควรจะปรับกลยุทธ์ธุรกิจของตนเองให้สอดรับกับเทรนด์ของโลกใหม่นี้อย่างไรกันดี
ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ คนสูงวัยในไทยจะมีมากถึง 30 ล้านคน
จากการคากการณ์ของผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ สำนัก มองไปในทิศทางเดียวกันว่า อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ นั่นก็คือปี 2573 ประชากรผู้สูงวัยจะขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากเดิมถึง 40% ซึ่งก็หมายความว่า 10 ปีข้างหน้าเราจะมีประชากรเป็นคนสูงวัยมากถึง 30 ล้านคน ข้อมูลการคาดการณ์เหล่านี้บ่งบอกว่า 10 ปีข้างหน้า ไทยเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ
ในขณะที่ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงไปจากเดิม จากเทรนด์ที่คนเริ่มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น แต่งงานช้าลง และถึงจะแต่งงานแต่ก็จะไม่ยอมมีลูก นั่นทำให้ประชากรในวันทำงานจะไม่เพิ่มและจะลดลงด้วย ในบางส่วนก็จะเดินหน้าเข้าสู่วัยเกษียณ คำถามที่ตามมาก็คือ สิ่งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และการประกอบธุรกิจอย่างไรบ้าง ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ไทยเราจะต้องเจอนับจากนี้ไปมีอะไรที่รอเราอยู่ข้างหน้า
“แก่ก่อนรวย” คำทำนายอนาคตของคนไทย
เมื่อเราลองดูไปรอบ ๆ เราจะพบว่าในต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบุณณ์แล้ว เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้สัดส่วนประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนสูงมาก และดูเหมือนพวกเขาจะอยู่กันได้ โดยที่ไม่เดือดร้อนอะไรนัก แต่ในความเป็นจริง มีสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาให้ดีก็คือ ประเทศเหล่านี้ ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ของประชากรเฉลี่ยต่อหัวค่อนข้างสูง แต่ในขณะที่ไทย มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำถึงต่ำมาก หากประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อไหร่ คนไทยเรามีแนวโน้มที่ต้องแก่ก่อนที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างแน่นอน
หากเป็นดังนั้นปัญหาที่จะถาโถมเข้ามาก็มากมาย ทั้ง
-
เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ที่จะลำบากมากขึ้น คุณภาพชีวิตจะตกต่ำลง
-
คนไทยจะเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการที่ควรจะได้ เพราะจำนวนคนที่ต้องใช้ประโยชน์จากรัฐสวัสดิการมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน (คนแก่จะไม่มีใครดูแล และบางส่วนจะดูแลตัวเองไม่ได้)
-
ภาระจะตกไปอยู่ที่รัฐที่จะต้องนำเงินภาษีที่ควรจะนำมาบำรุงประชาชนทั้งประเทศ มาอุดหนุนจุนเจือคนสูงวัย ในขณะที่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็ไม่ช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเลย
-
ความเท่าเทียมในบริการทางสาธารณสุขจะลดลง เพราะรัฐสวัสดิการไม่ทั่วถึง
สิ่งที่กล่าวมาหากมองในภาพใหญ่ก็หมายความว่า ภาครัฐจะเต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และมากขึ้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น ส่วนถ้ามองลงมาในระดับสังคมและครอบครัว ลูกหลานที่เป็นวัยแรงงานจะมีชีวิตที่ลำบากมากขึ้น จะต้องรับภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถตั้งตัวได้ ชีวิตจะมีแต่งาน ต้องแบกรับภาระดูแลคนทั้งครอบครัว
สังคมการบริโภคที่ค่อย ๆ ลดลง
ทีนี้เราลองมาดูผลกระทบในเชิงธุรกิจกันบ้าง เมื่อกลุ่มคนวัยแรงงานน้อยลง นั่นหมายความว่าการบริโภคการจับจ่ายก็จะน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัยตั้งแต่ 51 – 65 ปีนั้น เป็นกลุ่มคนที่กำลังซื้อของตนเองน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะหมดไปกับการใช้จ่ายเรื่องของสุขภาพ การบริโภคซื้อสินค้า อาหาร ท่องเที่ยวในแบบต่าง ๆ จะน้อยลง เน้นประหยัดเก็บออมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ติดตามการใช้จ่ายของกลุ่มประชากรผู้สูงวัยก็จะพบว่า
ประชากรกลุ่มวัยก่อนเกษียณและหลังเกษียณนั้นมีการใช้จ่ายที่ลดลง โดย 13% ลดการใช้จ่ายลงเดือนละ 3,000 บาท และ 20% ลดการใช้จ่ายลงเดือนละ 6,000 บาท นั่นหมายความว่าเงินที่จะไหลเวียนเข้าสู่ระบบธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศจะลดน้อยลง ซึ่งนี่เป็นเพียงการบริโภคน้อยลงมิติเดียวเท่านั้น ยังไม่นับรวมประชากรวัยแรงงานที่จะประหยัดมากขึ้นกว่าเดิมด้วย นั่นเท่ากับว่าผู้ประกอบการธุรกิจนับจากนี้ไป จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก จะต้องมีการวางแผนเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจกันอย่างละเอียดรอบคอบมากกว่าเดิม ต้องหาวิธีการที่จะกระตุ้นการซื้อจากผู้บริโภคในกลุ่มต่าง ๆ ให้ได้ คอนเทนต์ โปรโมชัน และอะไรอื่น ๆ ที่มากกว่านั้นจะต้องขนออกมาใช้ให้หมด เพื่อที่จะกระตุ้นการจับจ่าย
ธุรกิจที่ไม่เข้าเทรน์จะไม่โต แต่ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยจะโตมากขึ้น
ธุรกิจไหนที่ไม่ปรับตัว ไม่เข้าเทรนด์ ไม่สอดรับกับสภาพสังคมผู้สูงอายุ จะเริ่มชะลอลง บางส่วนจะเริ่มหดตัว อย่างกลุ่มท่องเที่ยวการเดินทาง กลุ่มรถยนต์ กลุ่มแฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม มีแนวโน้มว่าจะหดตัวลงอย่างช้า ๆ ตามสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยอีกต่อไป ในขณะที่วัยแรงงานก็จะเริ่มคิดมากขึ้นกับการจับจ่ายซื้อสินค้าในกลุ่มเหล่านี้
แต่ที่ดูจะมีอนาคตมากขึ้นกลับเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัยจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ รวมไปถึงเรื่องของกลุ่มอุตสาหกรรมยา และที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและการดูแลสุขภาพ จะเติบโตแบบก้าวกระโดด
ที่น่าเป็นห่วงก็คือระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย อาศัยการขับเคลื่อนจากกลุ่มธุรกิจแรก คือ ท่องเที่ยวเดินทาง อาหารเครื่องดื่มที่เอาใจวัยทำงาน ซึ่งถ้ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้เดินหน้าได้ยาก เศรษฐกิจของไทยก็จะหดตัวมากยิ่งขึ้น
ภาคธุรกิจจะขาดอำนาจ ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้
เป็นผลพวงจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น เมื่ออุตสหกรรมและธุรกิจบางสาขาอัตราการขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ตามมาก็คือ ภาคธุรกิจต้องพยายามเอาตัวรอด ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่เรื่องของ “ราคา” เพราะเป็นสิ่งที่จูงใจผู้บริโภคได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่าความสามารถในการต่อรองราคาของผู้ประกอบการธุรกิจจะลดลงอย่างมาก การคุยเรื่องราคาจะยากขึ้น เพราะต้องตั้งราคาที่ต่ำกว่าความเหมาะสมเข้าไว้ จะได้จูงใจลูกค้าให้เข้ามาซื้อได้ ทั้ง ๆ ที่การจำหน่ายออกไป ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการ เรียกว่าไม่คุ้มค่าทั้งคู่เลย
แน่นอนว่าในแง่ของเจ้าของบริษัทอาจจะพอรับได้กับกำไรที่น้อยลง แต่ปัญหาจะย้อนกลับมาสู่ประชากรวัยแรงงานที่เป็นลูกน้องลูกจ้างผู้ปฏิบัติงาน ที่จะต้องรับแรงกดดันจากงานที่ยากและหนักขึ้น โดยที่ค่าแรงค่าจ้างจากงานที่ทำไม่ได้สอดรับกับปริมาณงานหรือความซับซ้อนของงานเลย ปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาสังคม ภาคธุรกิจก็จะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ เพราะไม่สามารถจูงใจให้คนเก่งมีความสามารถอยู่กับตนเองได้
ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างไรดี
- เริ่มต้นจากกลับมามองตลาดในประเทศให้มากขึ้น
- หากเป็นไปได้ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจ รวมถึงรูปแบบธุรกิจทั้งหมดให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ เช่น การดีไซน์ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบคนสูงวัย หันมาจำหน่ายและให้บริการเกี่ยวกับเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ
- การท่องเที่ยวอาจต้องเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือจัดแพ็คเกจทัวร์ผู้สูงวัยโดยเฉพาะ มีกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย
- สำหรับธุรกิจไหนที่ยังมองถึงตลาดต่างประเทศ ก็ต้องใช้ช่วงระยะเวลาที่โลกยังไม่เปิดประเทศ ลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพสินค้าของตนเอง ต้องเน้นเรื่องเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า และถ้าเป็นบริการต้องสนใจเรื่องของการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และ เรื่องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดคือเรื่องน่าคิดของธุรกิจไทย และสังคมไทยในภาพรวม หากในไม่ช้ารวมจะกลายเป็นอีกหนึ่งประเทสที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ การเตรียมตัวรับมือ คิดเสียตั้งแต่วันนี้น่าจะทำให้เรามีความพร้อมมากขึ้นเมื่อเวลานั้นมาถึง